วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ห่วงไทยไม่พ้นบ่วงค้ามนุษย์











          ขอเขียนถึงสถานการณ์แรงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าในบ้านเราอีกครั้ง หลังจากครั้งก่อนเขียนถึงความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการแก้ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย
          เพื่อทำให้ไทยหลุดพ้นจากบัญชี Tier 2 Watch List (ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ  และมีเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมาก หรือเพิ่มขึ้นมาก หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าได้ใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการต่อต้านการค้ามนุษย์) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 57 ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะจัดทำและเผยแพร่ในราวเดือนก.ย.นี้
          และทำให้สินค้าไทยหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ที่ระบุในการผลิตสินค้า 5 รายการ ทั้งกุ้ง ปลา อ้อยและน้ำตาล สื่อลามก และเครื่องนุ่งห่ม ใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายด้วย
          เพราะเห็นข่าวว่า นายวัลลภ  วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กังวลถึงการหารือกับบริษัทล็อบบี้ยิสต์ ที่ไทยว่าจ้างให้เจรจากับสหรัฐฯในการแก้ปัญหาดังกล่าว








          โดยล็อบบี้ยิสต์รายงานว่า ผู้นำเข้าสินค้าจากไทยรายใหญ่ของสหรัฐฯ กังวลถึงการใช้แรงงานในสินค้าประมงมากที่สุด เพราะแผนแก้ปัญหาต่างๆ ยังไม่ชัดเจนเหมือนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และอุตสาหกรรมสิ่งทอ
          จึงอาจเป็นไปได้ว่า ในรายงานการค้ามนุษย์ ปี 57 ไทยอาจถูกจัดให้อยู่ในบัญชีที่แย่ลง หรือในบัญชี Tier 3 ก็เป็นได้!!
          นอกจากจะส่งผลเสียต่อการค้า การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ  เช่น ไทยอาจถูกสหรัฐฯตัดความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่การค้า และมนุษยธรรม อาจถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) หรือผู้บริโภคสหรัฐฯ  อาจต่อต้านการซื้อ การบริโภคสินค้าไทย หรือหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯอาจถูกบังคับไม่ให้นำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะสินค้าประมง และเครื่องนุ่งห่ม ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯระบุว่าผลิตจากแรงงานเด็ก และแรงงานขัดหนี้แล้ว











          ยังจะมีผลกระทบต่อการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทยกับประเทศต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และการใช้แรงงานมากพิเศษเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากันอยู่
          ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องการให้รัฐบาล เร่งปราบปราม และดำเนินคดีอย่างเข้มข้นกับกลุ่มนายหน้า ที่นำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมาเร่ขาย เพราะกลุ่มค้ามนุษย์เหล่านี้ มักฉวยโอกาสข่มขู่ หรือล่อลวงเพื่อหาประโยชน์ จากประชากรของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทย
          รวมถึงขบวนการค้ามนุษย์ของไทย ที่มีคนเกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีอำนาจในการพาคนเข้าเมือง หากมีการปราบปรามอย่างจริงจัง  และดำเนินคดีอย่างเข้มข้นให้ถึงที่สุด จะทำให้ภาพพจน์ของไทยดีขึ้น และเป็นเหตุผลอย่่างดีที่สหรัฐฯจะจัดอันดับให้ไทยอยู่ในบัญชีที่ดีขึ้นด้วย
          ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนยังต้องการให้ทางการไทย ชี้แจงให้ทั่วโลกได้รับทราบถึงความพยายาม และความคืบหน้าในการแก้ปัญหา เพราะภาครัฐและผู้นำเข้าของสหรัฐฯเห็นว่า ไทยมีความคืบหน้าแก้ปัญหามากแล้ว
          ถ้าอุตสาหกรรมของไทยใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมายตั้งแต่แรก ไม่มีการเอาเปรียบแรงงาน หรือให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนแล้ว คงไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาจนหัวปั่นแบบนี้ เชื่อเถอะ!!


                                                                      ฟันนี่เอส


                                            3 เม.ย.57

วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

อคส.กวาดล้างทุจริต







                 ดูท่าว่า ตอนนี้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) จะเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริต และมาเฟียภายในองค์กร เพื่อหวังล้างภาพรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อเสียงด้านโกงกินให้หมดไปโดยเร็ว โดยเฉพาะการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะอคส.เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในโครงการนี้

                 ที่ผ่านมา การทุจริตในโครงการ เจ้าหน้าที่อคส.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น จะมีทั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนกลาง คือ ในอคส.เอง และคลังในจังหวัดต่างๆ เมื่อทุจริตแล้ว มักจับไม่ได้ เพราะความหละหลวมในการทำงาน และความไม่จริงจังในการตรวจสอบ

                 แต่จากการได้พูดคุยกับ  นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการคนใหม่ ทราบว่า ขณะนี้ อคส.ตรวจสอบการบริหารงานภายในอย่างเข้มงวด รัดกุม เพื่อป้องกัน และปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะในโครงการ

                  ผลจากการตรวจสอบ พบการทุจริต เช่น  เจ้าหน้าที่สมรู้ร่วมคิดบุคคลอื่นขนย้ายข้าวรัฐออกจากโกดัง เพื่อเอาข้าวใหม่ไปขายและเอาข้าวเก่ามาใส่แทน เจ้าหน้าที่อคส.เกี่ยวข้องกับการทุจริตในการทำข้าวสารบรรจุถุง ฯลฯ แต่ละเคส อคส.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าพบผิดจะดำเนินการเอาผิดทั้งทางวินัย แพ่ง และอาญาให้ถึงที่สุด!!





     นอกจากนี้ ยังได้สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้าคลังสินค้าในจังหวัดต่างๆ แล้ว 12 จังหวัด เพราะมีพฤติกรรมส่อทุจริต จึงต้องหมุนเวียนตำแหน่ง เพื่อทำให้ทุจริตในโครงการลดลง

      หัวหน้าคลังเหล่านี้ ส่วนมากประจำอยู่ในพื้นที่มายาวนานนับสิบๆ ปี จึงมีความสัมพันธ์อันดีกับคนในท้องที่ อย่างในวงการค้าข้าว ก็มีทั้งพ่อค้า โรงสี บริษัทเซอร์เวย์ หรือกระทั่งคนของจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวมถึงเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลต่างๆ

     เมื่อเห็นว่า ผู้มีอิทธิพลมารวมกัน การจะร่วมกันทุจริต คงไม่ยากนัก เพราะทุกฝ่ายสมรู้ร่วมคิด หมด การทุจริตจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้น ถูกต้องแล้วที่โยกย้าย ไม่ให้มีอิทธิพลฝังรากลึกจนเกินไป
     และยังมีเค้าว่าจะสั่งโยกย้ายอีกหลายจังหวัด แต่จะให้ดีที่สุด ถ้าคนที่ถูกย้ายไปประจำการแทน ไม่เข้าร่วมขบวนการทุจริตด้วย เพราะถ้ากระโดดเข้าร่วม คงล้างภาพโกงกินให้หลุดไปจาก อคส.ไม่ได้แน่นอน





      ส่วนเคสที่น่าชื่นชมคือ การสั่งพักงานรองผู้อำนวยการหนึ่งคนชั่วคราว ซึ่งคนในองค์กรรู้ดีว่า รองผอ.คนนี้เป็นคนรอบจัดในการทำงาน ด้วยอายุงานที่มากกว่า 30 ปี ทำให้รู้จักผู้มีอิทธิพลในวงการค้าข้าวอย่างกว้างขวาง และน่าจะมีส่วนพัวพันกับการทุจริตในการผลิตข้าวสารบรรจุถุง เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่ผ่านมา

       สาเหตุการสั่งพักงาน เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตข้าวถุง ที่มีนายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน ทำงานอย่างราบรื่น และป้องกันรองผอ.คนนี้ ใช้อำนาจครอบงำผู้เกี่ยวข้อง ที่จะให้ปากคำคณะกรรมการฯด้วย

      หากผลสอบพบว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ก็กลับมาทำงานได้ แต่หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต จะถูกดำเนินคดีทางวินัย แพ่ง และอาญา 

        คงต้องเอาใจช่วยให้ อคส.ป้องกัน ปราบปรามการทุจริต และกอบกู้ชื่อเสียงขององค์กรให้สำเร็จ อย่าให้ถึงขั้นต้องยุบทื้ง เพราะเป็นหน่วยงานไร้ประสิทธิภาพเลย




  ฟันนี่เอส


27 มี.ค. 57

ไทยรัฐทีวี : คิดต่างอย่างเข้าใจ

          





                  ถือฤกษ์งามยามดีวันที่ 24 เม.ย.นี้ เปิดตัวสถานี “ไทยรัฐทีวี” อย่างเป็นทางการ ผู้ชมสามารถรับชมได้ทางช่อง 32 ในระบบ High Definition ความคมชัดสูง ภายใต้สโลแกน “คิดต่างอย่างเข้าใจ”

                 เป็นอีกความภาคภูมิใจหนึ่งของคน “ไทยรัฐ” ที่ก้าวเข้าสู่วงการโทรทัศน์อย่างเต็มภาคภูมิ หลังจากเตรียมตัวมาอย่างยาวนานร่วม 2 ปี

                 “คุณวัชร วัชรพล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “ไทยรัฐทีวี” ว่า เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคุณตา (คุณกำพล วัชรพล) ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่เคยอยากจะมีช่องโทรทัศน์มานานแล้ว...

                  ...ประกอบกับ ไทยจะมีช่องฟรีทีวีเพิ่มจากการประมูลทีวีดิจิตอล จึงไม่ลังเลเข้าร่วมในธุรกิจนี้ โดยต่อยอดคอนเทนต์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้สะสมมา 60 กว่าปี และต่อยอดความแข็งแรงในการเป็นผู้เชื่อมผู้บริโภคเข้ากับโลกของข่าวสารผ่านทีวี ที่เข้าถึงคนไทยได้ง่ายและรวดเร็วที่สุดอีกช่องทางหนึ่ง

                  คอนเทนต์ของ “ไทยรัฐทีวี” กำหนดสัดส่วนข่าวสาร และสาระบันเทิงมากถึง 50% โดยจะผลิตข่าวเองทั้งหมด แต่จะใช้วิธีการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น รายการ News Show ที่ไม่ใช่การเล่าข่าวแบบทั่วๆ ไป แต่ได้รับการพัฒนามาจากแนวคิดของหน้า 1 บนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

                  นั่นคือ รูปแบบการนำเสนอแต่ละวันไม่ตายตัว มีความหลากหลาย บางวันอาจมีแขกรับเชิญมาพูดคุยในสตูดิโอ ซึ่งความเป็นรายการ “โชว์” จะทำให้อารมณ์ของการนำเสนอข่าวแต่ละวันไม่เหมือนกัน ผู้ชมคาดเดาไม่ได้ มีการใช้เทคโนโลยี immersive หรือภาพ 3 มิติ ช่วยให้การเล่าเรื่องมีสีสัน น่าสนใจมากขึ้น






     ส่วนอีก 50% เป็นรายการเพื่อความบันเทิง ที่ตอบโจทย์ความต้องการ และไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย สำหรับคอละคร จะได้พบกับละครหลายรส หลายสไตล์ ตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป

     ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของไทย ที่ไทยรัฐทีวีจะทำ Format Series ร่วมกับบริษัท กันตนา โดยนางเอกของเรื่องจะเป็นคนจากทางบ้าน และยังเกาะเทรนด์ Second Screen (แท็บเล็ต, พีซี, สมาร์ทโฟน) ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมทางบ้านจะมีส่วนร่วมกับเกมโชว์ผ่านจอทีวีได้

      ความเหนือชั้นของ “ไทยรัฐทีวี” อีกอย่างคือ เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศ ที่จับมือบริษัทระดับโลก อย่าง DOLBY และ The Weather Company ในการเสริมทัพด้านเนื้อหา และเพิ่มคุณภาพการออกอากาศในระบบ HD ด้วยระบบเสียงแบบ Surround






     สำหรับช่วงแรกของการออกอากาศ จะใช้แคมเปญ “เช้าอ่านสิบ เย็นหยิบแสน” ผู้อ่านไทยรัฐ สามารถตัดชิ้นส่วนโลโก้หนังสือพิมพ์ ที่ระบุโลโก้ไทยรัฐทีวีพร้อมช่องทางการรับชม ส่งเข้ามาในรายการข่าวค่ำ “ไทยรัฐ นิวส์ โชว์” ลุ้นทองคำมูลค่า 1 แสนบาททุกวัน นาน 30 วัน 30 แสน

     สิ่งต่างๆ ที่ “ไทยรัฐทีวี” พิถีพิถัน และภูมิใจมอบให้ผู้ชมนั้น คุณวัชร กล่าวว่า

     ...คุณตาเคยพูดไว้ว่า ไทยรัฐเกิดขึ้นมาจากแรงศรัทธาของประชาชน เมื่อมีโอกาสก็ควรตอบแทนประชาชน ดังนั้น ไทยรัฐทีวี จะนำเสนอแต่สาระบันเทิง ที่มีประโยชน์กับคนไทย สร้างสรรค์สังคม และจะทำหน้าที่สื่อสารมวลชนให้ดีที่สุดครับ”



ฟันนี่เอส


                                              24 เม.ย. 57

วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

ลุ้นปีนี้หลุด Tier 2 Watch List

















               ปีนี้ประเทศไทยกำลังลุ้นตัวโก่งว่า การแก้ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือหลายหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จะสำเร็จ จนทำให้ประเทศหลุดพ้นจากบัญชี  Tier 2 Watch List ไปอยู่ในบัญชีที่ดีขึ้นคือ Tier 2 หรือจะตกไปอยู่ในบัญชีที่แย่กว่าคือ Tier 3

                 ในรายงานปี 57 เกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ตามกฎหมายสหรัฐฯ  Trafficking Victims Protection Act of 2000 (TVPA) ได้หรือไม่ หลังจากที่สหรัฐฯ จัดให้ไทยอยู่ในบัญชีนี้ต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว

                  โดยสหรัฐฯอ้างว่า ในอุตสาหกรรมประมงไทย รวมถึงสิ่งทอ อ้อย และสื่อลามก ยังใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยกุ้ง และเครื่องนุ่งห่มใช้แรงงานเด็ก, แรงงานบังคับ และแรงงานเด็กบังคับหรือเด็กขัดหนี้, อ้อยและสื่อลามก ใช้แรงงานเด็ก และปลา ใช้แรงงานบังคับ ซึ่งขัดมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย TVPA สหรัฐฯ

                 ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ไทยได้ส่งรายงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี 2556 ให้สหรัฐฯ ประกอบการพิจารณาจัดทำรายงาน TIP Report ประจำปี 2014 แล้ว

                 หากไทยตกไปอยู่บัญชี Tier 3 จริง จะส่งผลเสียมากมาย เช่น ถูกระงับการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ได้เกี่ยวกับการค้าและสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระทบต่อการค้า และการส่งออกไปสหรัฐฯ กระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ และผู้บริโภคสหรัฐฯ อาจต่อต้านสินค้าไทย นอกจากนี้ อาจตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่ให้กับสินค้าไทย และหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จะถูกห้ามซื้อกุ้ง และเครื่องนุ่งห่มจากไทย

                  อย่างไรก็ตาม ได้รับคำยืนยันจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ว่า หลายหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง และเห็นพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น

                ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.พ.57 ได้จัดตั้งคณะทำงานเป็นรายสินค้า 5 คณะ สำหรับสินค้ากุ้ง ปลา อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และสื่อลามก เพื่อเร่งถอดถอนสินค้าเหล่านี้ออกจากบัญชีของสหรัฐฯ พร้อมกันนั้น กรมฯยังได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูล และข้อเท็จจริงด้านแรงงานของไทยผ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษและภาษาไทย จัดส่งข้อมูลให้แก่สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ

               นอกจากนี้ กรมฯได้จัดตั้งคณะทำงานชี้แจงข้อเท็จจริงการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการส่งออก และกำหนดรูปแบบการชี้แจงต่อสื่อเกี่ยวกับการแก้ปัญหา และนำเรื่องดังกล่าวขึ้นเจรจาในทุกเวที ขณะเดียวกัน เมื่อต้นปี 57 ได้ทำเรื่องสั้นถ่ายทอดการใช้แรงงานไทยอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานสากล และการป้องกันและแก้ไขปัญหา เผยแพร่ให้ต่างประเทศได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง ด้วย

                การดำเนินการเหล่านี้ หวังให้สหรัฐฯปรับสถานะไทยดีขึ้น และไม่ถูกใช้แรงงาน และสิทธิมนุษยชนเป็นข้อกีดกันทางการค้าอีกต่อไป!!!

                ทั้งที่ในเวทีโลก อย่างองค์การการค้าโลก (WTO) มีความพยายามมาหลายปี ที่จะผลักดันไม่ให้ประเทศพัฒนาแล้ว ใช้มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อมมากีดกันทางการค้า แต่ยังไม่สำเร็จซะที




                                                                     ฟันนี่เอส


                                            20
มี.ค.57

เหยื่อเกมการเมือง!















                ดูท่าแล้วสำเร็จยาก! สำหรับความพยายามในการหาเงินของรัฐบาลมาใช้หนี้ค่าข้าวให้ชาวนา ที่นำข้าวเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 56/57 (รอบแรก)
                เพราะไม่ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่มีใครอยากให้ความช่วยเหลือ เพราะโดนทั้งม็อบ พนักงานสถาบันการเงิน และสังคม กดดันผู้บริหารไม่ให้ปล่อยกู้ ด้วยความโกรธเกลียดรัฐบาล ไม่อยากให้เอาเงินมาผลาญ มาโกงกินกันซ้ำแล้วซ้ำอีก
      แม้กระทั่งธนาคารของรัฐบาลด้วยกันเอง ยังต้องหลบๆ ซ่อนๆ ปล่อยกู้ แต่ไม่ว่าจะได้เงินมารูปแบบใดก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลมั่นใจว่า สามารถทยอยจ่ายหนี้ค่าข้าวให้ชาวนาได้ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.57 เป็นต้นไป
                 ความฝันของชาวนาทั่วประเทศ ที่มาอดตาหลับขับตานอน พักค้างคืนที่กระทรวงพาณิชย์ จะได้เงินค่าข้าวของตัวเองใกล้จะเป็นจริงแล้ว และจะได้กลับบ้านไปทำมาหากินต่อเสียที
     แต่สุดท้าย! ฝันดีกลายเป็นฝันร้าย! ความลับไม่มีในโลก เรื่องแดงขึ้นจนได้ เมื่อมีคนปูดข่าวธนาคารออมสิน ปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยอนุมัติก้อนแรก 5,000 ล้านบาท จนเป็นที่มาของการแห่ถอนเงินออกจากธนาคารออมสินหลายหมื่นล้านบาท
                 วันแรก (17ก.พ.) รวดเดียว 30,000 ล้านบาท แม้จะมีเงินฝากเข้ามา 10,000 ล้านบาทก็ตาม!! โดยคนที่ถอนเงินออกนั้น มีทั้งประชาชนทั่วไป และลูกค้าที่เป็นสถาบัน องค์กรต่างๆ ทั้งที่เป็นภาคธุรกิจ และไม่ใช่ภาคธุรกิจ
               และเป็นที่มาที่ทำให้นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ปฏิเสธที่จะรับเงินกู้จากธนาคารออมสิน ทำให้รัฐบาลเข้าตาจนอีกครั้ง (เป็นครั้งที่เท่าไรนับไม่ถ้วนแล้ว)
               ขณะที่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งประชาชน นักธุรกิจ แม้กระทั่งชาวนาด้วยกันเอง ยังพร้อมใจกันไปฝากเงินกับออมสิน เพื่อแสดงความเห็นต่างจากกลุ่มแรก และต้องการช่วยเหลือชาวนา
                 แต่ความพยายามของคนกลุ่มหลังไม่เป็นผล สหภาพพนักงานออมสิน พยายามกดดัน และเรียกร้องให้ นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการ ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบกับการที่มีคนแห่ถอนเงินออกจากธนาคารหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งอาจกระทบต่อสถานะของธนาคารได้ และก็สมใจ เพราะนายวรวิทย์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว
                 เหตุการณ์เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลนี้อยู่บนความเกลียดชังของประชาชนบางส่วน ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการบริหารประเทศ ที่นำมาซึ่งการคอรัปชันอย่างใหญ่โตมโหฬาร และคนกลุ่มนี้ พยายามจะทำร้าย “รัฐบาล” หรือทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาล โดยไม่มองดูว่า การกระทำเหล่านั้น ได้ส่งผลร้ายต่อคนที่เกี่ยวข้อง หรือคนที่ตกเป็น “เหยื่อ” อย่างไร
                 กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า นายวรวิทย์ และชาวนา ได้ตกเป็นเหยื่อ เกมแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ทั้งๆ ที่เป็นผู้บริสุทธิ์




                                                                                       ฟันนี่เอส


                                                          20 ก.พ.57

พิษสงแขก!


                                                      




                  เห็นข่าวนี้แล้วถึงกับอึ้ง! อินเดียขอทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ทำกับประเทศต่างๆ รวมถึงกับไทย หลังพบว่า ขาดดุลประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และยังมีการนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นมาก

                 ภายใต้เอฟทีเอไทย-อินเดีย กำหนดให้อินเดียต้องลดภาษีนำเข้าทองคำจากไทยเหลือเพียง 1.01% จากอัตราปกติที่ประเทศอื่นๆ เสียกันที่ 15% ประกอบกับ ทองคำรูปพรรณของไทยมีคุณภาพดี มีเนื้อทองคำบริสุทธิ์สูงถึง 96.5% และชาวอินเดีย นิยมซื้อทองคำมากกว่าฝากเงินในธนาคาร

     ส่งผลให้นำเข้าทองคำจากไทยเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 55 นำเข้าเครื่องประดับทองคำมีมูลค่าสูงถึง 123.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทองรูปพรรณ 52.73 ล้านเหรียญฯ

     รัฐบาลอินเดียถึงกับต้องหามาตรการป้องกัน ที่ไม่เป็นธรรมกับไทย โดยระงับการนำเข้าทองคำจากไทยตั้งแต่เดือนก.พ.56 อ้างว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยไม่ชัดเจน และอินเดียมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดจากไทย

     เพราะการที่สินค้าไทยเสียภาษีนำเข้าในอัตราต่ำมาก ทำให้อินเดียอ้างได้ว่า อาจเป็นช่องทางให้ผู้ส่งออกทองคำจากประเทศอื่นอ้างการส่งออกจากไทย เพื่อให้ได้ใช้สิทธิประโยชน์เสียภาษีนำเข้าในอัตราเดียวกับไทยได้

     ซึ่งตามปกติทองคำ ที่จะขอรับสิทธิประโยชน์ได้ต้องมีการผลิต หรือสร้างมูลค่าเพิ่มในไทย 20ของมูลค่าสินค้า แต่อินเดียได้กักสินค้าไทยไว้ที่ด่าน และเรียกเก็บภาษีนำเข้า 15โดยไม่ได้หารือไทยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่ภายใต้เอฟทีเอ กำหนดให้ต้องหารือกันเพื่อแก้ปัญหา

     นอกจากนี้ อินเดียวยังเล่นนอกกติกา ปรับขึ้นภาษีนำเข้าทองคำจากไทยหน้าตาเฉย ซึ่งที่ผ่านมา ได้ปรับเพิ่มขึ้นหลายครั้งโดยไม่แจ้งให้ทราบจนปัจจุบัน เรียกเก็บภาษีนำเข้าเครื่องประดับทองคำจากไทย 15และสินค้าทองคำ เช่น ทองคำแท่ง เหรียญทอง ทองที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป 10%

     ผลจากการเล่นนอกกติกา ทำให้ในปี 56 ไทยส่งออกเครื่องประดับทองคำไปอินเดียมีมูลค่าเพียง 9.37 ล้านเหรียญฯ และ ทองรูปพรรณ 1.48 ล้านเหรียญฯเท่านั้น ซึ่งลดลงจากปี 55 ถึง 90%

     แค่นี้ยังไม่พอ! อินเดีย พยายามจะขอทบทวนความตกลงกับไทยซ้ำอีก โดยต้องการเพิ่มอำนาจของหน่วยข่าวกรองด้านสรรพากรของอินเดีย สังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบสินค้าผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด ทองคำ เพชร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ธนบัตรปลอม 

      ให้สามารถระงับการค้าได้โดยอัตโนมัติ หากตรวจพบว่าการใช้ความตกลงผิดวัตถุประสงค์ จากการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเครื่องประดับทองคำ ที่ส่งผลให้อินเดียขาดดุลการค้ามโหฬาร

     อย่างไรก็ตาม นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้แนะนำผู้ผลิตผู้ส่งออกทองของไทยว่า ควรจะปฏิบัติตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด ถ้าคิดจะทำการค้ากับอินเดียต่อไป เพื่อไม่ให้ใช้เป็นข้องอ้าง ทบทวนเอฟทีเอระหว่างกัน เพราะมีการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าทองคำของไทย

      ค้าขายกับแขกก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ไร้กฎกติกา ตอนกำลังเจรจาเอฟทีเอกัน ก็หลอกล่อไทยสารพัดจนเกือบจะเสียท่า พอกำหนดกติกาค้าขายกันได้ ก็ยังแหกกฎได้อีก!!





                                                                 ฟันนี่เอส

                                                                         13 ก.พ. 57