วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รอลุ้นWLปีนี้!



                                                        





    
            หลังจากเฝ้าลุ้นกันมาทั้งปี ในที่สุด สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (The Office of the United States Trade Representative : USTR) ก็ได้ประกาศสถานะของไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญาประจำปี 55 ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษแล้วเมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

           เป็นไปตามคาด USTR ได้คงสถานะให้ไทยอยู่ในบัญชีถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priorty Watch List : PWL) ต่ออีกปี ส่งผลให้ไทยอยู่ในบัญชีนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 นับตั้งแต่ปี 50 เป็นต้นมา







            แต่ในปีนี้ถือว่าพิเศษตรงที่ USTR ได้ให้เงื่อนไขพิเศษกับไทยที่มากกว่าการทบทวนสถานะนอกรอบ (Out-of-Cycle Review : OCR)โดยหากไทยสามารถผลักดันร่างแก้ไขพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ว่าด้วยการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ และร่างแก้ไขพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ว่าด้วยการป้องกันการละเมิดบนอินเตอร์เน็ต ให้มีผลบังคับใช้ หรือเพียงแค่ผ่านการพิจารณาของสภาฯวาระแรกได้

      สหรัฐฯจะลดสถานะของไทยมาอยู่บัญชีที่ถูกจับตามอง (Watch List: WL) ทันที

     โดยสาเหตุที่ USTR ให้เงื่อนไขพิเศษกับไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะเห็นความจริงจังในการปราบปรามการละเมิด โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการบังคับใช้กฎหมายฟอกเงิน ซึ่งระบุการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นความผิดขั้นพื้นฐาน









       นอกจากนี้ USTR  ยังได้รับแจ้งจากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯว่า ได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดของไทย รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมศุลกากรด้วย

     สำหรับเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวนี้ ถือว่าดีกว่าการขอทบทวนสถานะนอกรอบ เพราะไทยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขอทบทวนนอกรอบ ที่ให้จัดส่งให้สหรัฐฯแล้วทั้งหมดก่อน สหรัฐฯจึงจะปรับไทยมาอยู่สถานะดีขึ้น เพียงแค่ไทยผลักดันให้กฎหมายผ่านพิจารณาวาระแรกก็จะถูกลดสถานะแล้ว

        กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่า ร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะผ่านการพิจารณาของสภาฯวาระแรกในช่วงการเปิดสภาฯเดือนส.ค.-ต.ค.นี้ เพราะเป็นร่างแก้ไขกฎหมายที่ประโยชน์อย่างมาก ทั้งกับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และกับประเทศไทยเอง








     เนื่องจากจะกำหนดให้การบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์โดยมิชอบเป็นความผิดทางอาญา ผู้กระทำผิดจะมีโทษรุนแรง ทั้งจำและปรับ ส่วนการป้องกันการละเมิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีการละเมิดมากขึ้น เช่น การโหลดตำราวิชาการ ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ นั้น ความผิดสูงสุด จะถึงขั้นปิดเว็บไซต์ และดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บไซต์ด้วย     

      เมื่อกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้ น่าจะทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดเกรงกลัว และไม่คิดที่จะทำผิดอีก เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ก็สามารถขายสินค้าได้อย่างสบายใจ ไม่ถูกโจรขโมยไปขาย จนต้องสูญเสียรายได้มหาศาลเหมือนในปัจจุบัน     

       ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะมีการละเมิดลดลง และมีผลให้ ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ไว้วางใจที่จะทำการค้าขายกับไทยมากขึ้น และไม่ใช้ข้ออ้างด้านทรัพย์สินทางปัญญามากีดกันการค้าไทยอีก    

       ต้องรอลุ้นกันอีกครั้งว่า ไทยจะผลักดันกฎหมายตามที่สหรัฐฯต้องการได้หรือไม่ และไทยจะกลับมาอยู่บัญชี WL ได้เมื่อไร?
                          


                                                                ฟันนี่เอส
                                                     16 พ.ค.56

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไม่สำเร็จ!ลดราคาอาหารฟูดคอร์ท


                                             










            แม้วันนี้ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ จะทรงตัวเท่าปีก่อน เพราะต้นทุนการผลิตต่างๆ ยังทรงตัว ยกเว้นค่าแรงงาน รวมถึงการแข่งขันที่สูงมาก อาจทำให้สินค้าขายได้ยาก ถ้าปรับขึ้นราคาขาย และรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงงานเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศไปแล้ว

 แต่ทุกวันนี้ ค่าครองชีพประชาชน ไม่ได้ลดลงเลย!!

            ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะราคาอาหารสดขณะนี้ยังสูงอยู่ เพราะเป็นช่วงหน้าร้อน ผลผลิตเสียหายจากอากาศร้อนจัด ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อหมู ไข่ไก่

           จึงเป็นช่องทางให้ผู้ค้าอาหารปรุงสำเร็จฉวยปรับขึ้นราคาขาย เพราะไม่อยากแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น เลยผลักภาระนี้ให้กับประชาชนรับกรรมไปซะ!!







            จะเห็นว่า ราคาอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปในตลาดสด หรือข้างถนน เริ่มต้นที่จานละ 30 แต่มีหลายเจ้ามากขึ้นที่เริ่มต้น 35 บาท หรือ 40 บาท ถ้ามีไข่ดาว ไข่เจียว ก็เพิ่มอีกฟองละ 10-15 บาท

            ส่วนราคาในฟูดคอร์ทของห้างค้าปลีก เริ่มต้นที่จานละ 30 หรือ 35 บาทเช่นกัน ซึ่งใกล้เคียงกับที่ขายทั่วไปจนกลายเป็นความเคยชินของผู้บริโภคที่จำต้องซื้อ แต่ฟูดคอร์ทในห้างสรรพสินค้า ไม่มีที่ไหนเริ่มต้นที่จานละ 30-35 บาท เท่าที่เห็นก็ 40 บาทแล้ว บางเจ้า 45 บาท หรือ 50 บาท หรือ 60 บาท






 ฟันนี่เอสมีประสบการณ์ตรงที่พบเห็นเป็นประจำ และรับไม่ได้ ร้านอาหารบางร้านในฟูดคอร์ทของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า ที่แม้จะมีป้ายโปรโมชั่นจานละ 40 บาท หรือ 45 บาทจากปกติ 60 บาท แต่พอเดินเข้าไปสั่ง กลับได้รับคำตอบว่า หมดแล้ว

หรืออย่างในช่วงก่อนหน้านี้ ที่กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือให้จัดมุมอาหารธงฟ้า ขายเมนูที่กำหนดตามราคาแนะนำจานละ 25-30 บาท แต่พอสั่ง ได้รับคำตอบว่า หมดแล้วเช่นกัน หรือบางร้าน อาทิตย์ก่อนเคยซื้อจานละ 40 บาท อาทิตย์ถัดมากินเมนูเดิม ร้านเดิม กลับขึ้นราคาหน้าตาเฉยเป็น 50 บาท

นี่ขนาดรัฐบาลยังไม่ได้ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ถ้าปรับขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ธ.ค.นี้ ก็ยังไม่รู้ว่า ราคาจะปรับขึ้นจานละ 5 บาททุกเดือนรือไม่ และถึงสิ้นปี ไม่รู้ราคาจะไปเริ่มต้นที่จานละเท่าไร!!







ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนหนัก แห่ร้องเรียนกรมการค้าภายใน ให้ช่วยดูแล ส่งผลให้ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดี ต้องเชิญผู้ประกอบการฟูดคอร์ท ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีก มาขอความร่วมมือให้จัดมุมอาหารธงฟ้าตามราคาแนะนำจานละ 25-30 บาท ในเมนูที่กำหนดเพื่อลดค่าครองชีพ และป้องปรามไม่ให้ผู้ค้าฉวยขึ้นราคาเกินจริง หลังรัฐบาลปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนมิ.ย.นี้

เชื่อเถอะ! แม้จะตกปากรับคำว่าจะจัดให้ แต่สุดท้าย ผู้บริโภคก็อาจได้พบเห็นเหตุการณ์เดียวกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หมดแล้วคือหนทางหลีกเลี่ยงขายของราคาถูก

แต่จะว่าผู้ค้าอาหารฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะเค้าเองมีต้นทุนอีกมาก นอกจากต้นทุนอาหารสด ทั้งค่าเช่าที่ ค่าไฟฟ้า ค้าน้ำประปา ค่าส่วนแบ่งการขาย (จีพี) ที่ห้างเรียกเก็บสูงถึง 30-35% ฯลฯ

ทางที่ดี กรมการค้าภายใน ควรเจรจากับเจ้าของห้างสรรพสินค้า-ห้างค้าปลีก ลดราคาต้นทุนเหล่านี้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาขอให้ผู้ค้าลดราคาขายอาหารจะดีกว่าไหม? ไม่อย่างนั้น ปัญหาจะวนเวียนเป็นงูกินหาง ไม่มีทางจบแน่ๆ




                 ฟันนี่เอส



                                                                                  9 พ.ค.56

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เรื่องน่าห่วงเอฟทีเอไทย-อียู



     
















           โปรดจับตา! วันที่ 27-31 พ.ค.นี้  ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม คณะเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ของทั้งไทย และอียู จะเจรจาร่วมกันเป็นครั้งแรก

      เพื่อจัดทำความตกลงเอฟทีเอระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยมี นายโอฬาร ไชยประวัติ ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เป็นหัวหน้าคณะ และตั้งเป้าหมายการเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

     โดยกำหนดประเด็นที่จะหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการเปิดเสรี 14 ประเด็น ได้แก่ 1.กลุ่มเจรจาการเปิดตลาดสินค้า 2.กลุ่มเจรจากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.กลุ่มเจรจาความร่วมมือทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.กลุ่มเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า5.กลุ่มเจรจามาตรการเยียวยาทางการค้า

     6.กลุ่มเจรจามาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7.กลุ่มเจรจาการค้าบริการ 8.กลุ่มเจรจาการลงทุน 9.กลุ่มเจรจาการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 10.กลุ่มเจรจาทรัพย์สินทางปัญญา 11.กลุ่มเจรจานโยบายแข่งขัน 12.กลุ่มเจรจากลไกการระงับข้อพิพาท 13.กลุ่มเจรจาการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 14.กลุ่มเจรจาความโปร่งใสและการบริหารจัดการความตกลง

    แต่ในจำนวนนี้ มีประเด็นอ่อนไหวสำหรับไทย หรือเป็นประเด็นที่หากไทยเจรจาไม่ดี อาจเสียเปรียบอียู และส่งผลกระทบต่อคนไทยในทุกภาคส่วน รวม 6 ประเด็น ได้แก่

    1.ผลกระทบจากการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่อียูจะตัดสิทธิที่เคยให้กับสินค้าที่ส่งออกจากไทยทั้งประเทศ และจะทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันกับสินค้าของประเทศคู่แข่ง ที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ จึงต้องเจรจาให้อียูลดภาษีนำเข้าสินค้าในกรอบเอฟทีเอแทน









      2.ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยา โดยอียูต้องการให้ไทยขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา ที่อียูเป็นเจ้าของออกไปเป็น 25 ปี จากปกติ 20 ปี 3.การลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ที่อียูต้องการให้ไทยลดภาษีต่างๆ ลงให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยเก็บทั้งภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต รวมแล้วหลายร้อยเปอร์เซ็นต์

      4.กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยใช้อนุญาโตตุลาการ 5.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่อียูต้องการให้ไทยทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น และ 6.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอียูต้องการเจรจาในเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับการค้า ซึ่งเหมือนเป็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากลายๆ

      แต่อย่าเพิ่งตกใจ!! ว่าไทยจะเสียเปรียบ หรือเสียประโยชน์ เพราะคณะเจรจาฯ ได้ตั้งหัวหน้าทีมเจรจาขึ้น 14 ชุด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับทราบถึงผลดี ผลเสีย ที่จะมีต่อประชาชน ผู้บริโภค ผู้ผลิต ทั้งภาคเกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหามาตรการดูแลผู้ที่เสียประโยชน์ด้วย

           โดยให้จัดทำข้อสรุปท่าทีของประเทศไทยในทั้ง 14 ประเด็น เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะเจรจาฯภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ก่อนที่จะเดินทางไปเจรจากับอียูอย่างเป็นทางการ

           นอกจากนี้ นายโอฬาร ยังย้ำให้คนไทย มั่นใจว่า แม้ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ได้แลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องระหว่างกัน แต่ทุกกลุ่มเจรจามีความพร้อม โดยได้ศึกษาข้อตกลงเอฟทีเอ ที่อียูทำกับประเทศอื่นๆ เพื่อศึกษาท่าที จุดแข็ง และจุดอ่อนของอียู รวมทั้งเตรียมการรุกและรับในการเจรจาประเด็นต่างๆ แล้ว

           ตอกย้ำกันถึงขนาดนี้ ก็ต้องคอยดูกันไป อย่าทำให้คนไทยผิดหวัง ประเทศไทยเสียหายแล้วกัน!!





ฟันนี่เอส



                                                2 พ.ค.56