วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อย่าใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน!










           หลังจากที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศให้การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม  (Unfair Competition Act: UCA) เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.55 ให้หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 53 ใน 36 มลรัฐ และ 3 ดินแดน


ส่งผลให้สหรัฐฯปฏิบัติการอย่างเข้มงวด และจริงจัง กับผู้ผลิตและผู้ส่งออก ที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯโดยใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย

         เนื่องจากกฎหมายนี้ บังคับให้ผู้ผลิต-ผู้ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯต้องใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ในกระบวนการผลิต การขาย และการตลาดทุก ขั้นตอน

เพื่อป้องกันข้อได้เปรียบของผู้ผลิตที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะมีต้นทุนต่ำกว่า และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าได้ ซึ่หากมีการละเมิดจะถูกฟ้องร้องค่าเสียหาย และห้ามส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯอีก

สาเหตุที่ต้องออกกฎหมายนี้ เพราะสหรัฐฯเชื่อว่า น่าจะช่วยให้การแข่งขันของสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ ไม่เสียเปรียบสินค้านำเข้ามากนัก เพราะสินค้านำเข้าบางส่วนอาจมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เพราะใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ราคาถูก ในกระบวนการผลิต จนได้เปรียบการแข่งขัน 

 นอกจากนี้ ยังเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง ไมโครซอฟต์, ออราเคิล, ไอบีเอ็ม ฯลฯ ด้วย เพราะจะได้ไม่ถูกทั่วโลกละเมิดลิขสิทธิ์ จนธุรกิจเสียหายเหมือนทุกวันนี้

กฎหมายนี้ นอกจากบังคับให้ผู้ผลิต-ผู้ส่งออกของแต่ละประเทศ ต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้นในกระบวนการผลิตแล้ว ยังบังคับให้ผู้ผลิต-ผู้ส่งออก ที่นำเข้าชิ้นส่วนและส่วนประกอบจากประเทศที่สาม ต้องซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายด้วย ไม่เช่นนั้น จะมีความผิดตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน 

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ The Open Computing Alliance (OCA) องค์กรระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้ออกแถลงการณ์เตือนผู้ผลิตและส่งออกในญี่ปุ่น และบริษัทลูกในจีน ไทย และทั่วเอเชียให้ใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ

โดยแถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) ได้ตรวจค้นการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดในบริษัทของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น ที่เป็นผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนมาก ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิด และระหว่างนี้ สหรัฐฯกำลังตรวจสอบบริษัทเหล่านั้นอย่างเข้มงวด









ก่อนหน้านี้ มีบริษัทส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งของไทย 1 ราย ที่ถูกสหรัฐฯตรวจสอบพบใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย และถูกสั่งปรับแล้ว นอกจากนี้ ยังพบบริษัทผลิตสิ่งทอของจีน และอินเดีย ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน และถูกสั่งห้ามส่งออกสินค้ามาขายในสหรัฐฯเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯเอาจริงแน่ๆ กับการตรวจสอบ สืบค้นบริษัทที่เห็นว่า น่าจะทำไม่ถูกกฎหมาย เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าของตนเอง







ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จึงฝากเตือนผู้ผลิต-ผู้ส่งออกไทยทำให้ถูกต้อง ถูกกฎหมาย เพราะถ้าพลาดเพียงนิด อาจถึงขั้นนำเข้าสินค้าไปขายในสหรัฐฯไม่ได้ และอาจเสียตลาด และกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ในที่สุด!!!

ฟันนี่เอส


                                                                      28 ก.พ.56

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เดินหน้าเอฟทีเอไทย-อียู


                                                           






           วันที่ 4-6 มี.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และคณะจะเดินทางไปเยือนราชอาณาจักรเบลเยี่ยม สำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการ โดยผู้นำของไทย และอียูมีกำหนดการสำคัญที่ทั่วโลกจับตามองคือ

           การประกาศความสำเร็จการที่อียูรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทย ซึ่งจะทำให้ข้าวดังกล่าวของไทยกลายเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม ที่มีราคาสูงขึ้น

           ขณะเดียวกัน จะการประกาศเปิดเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียูอย่างเป็นทางการ หลังจากการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-อียูได้ยุติลงชั่วคราวในปี 52 เพราะทั้งอาเซียน และอียูไม่สามารถหาข้อยุติในประเด็นที่ขัดแย้งกันได้ โดยเฉพาะปัญหาระหว่างประเทศของอียูในเรื่องการยอมรับพม่า

           การเจรจาครั้งนี้ กำหนดกรอบเจรจาครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งรัฐบาลมองว่า ไทยจะได้ประโยชน์ในภาพรวมมากกว่าผลเสีย เพราะจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการค้า และการลงทุนของไทยในอียู ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากกองทุนเอฟทีเอของรัฐบาลได้

โดยไทยตั้งเป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หรือให้เสร็จก่อนวันที่ 1 ม.ค.58 ที่อียูจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับสินค้าไทย เพราะทั้งรัฐบาล และภาคเอกชน มองว่า เอฟทีเอไทย-อียู ที่มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน จะช่วยชดเชยความเสียหายของไทยหลังจากอียูตัดจีเอสพีได้







แต่แม้รัฐบาล และเอกชน ยืนยันมาโดยตลอดว่า เอฟทีเอนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่าเสีย แต่ภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอ กลับเห็นต่างโดยสิ้นเชิง และยังมีข้อกังวลที่สุดถึง 3 ประเด็นคือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, สินค้าแอลกอฮอล์และยาสูบ และการลงทุน

เพราะอียูต้องการเรียกร้องให้ไทยขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในไทยเพิ่มเป็น 25 ปี โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ที่ตามกฎหมายสิทธิบัตร และความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่ไทยผูกพันไว้ จะให้ความคุ้มครองเพียง 20 ปีเท่านั้น







หากไทยยอม อียูจะผูกขาดยาได้เพิ่มขึ้นอีก 5 ปี และไทยเข้าถึงยาราคาถูกได้ยากขึ้นและยาวนานขึ้นอีก 5 ปี กระทบต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ของภาครัฐ กระทบต่อชีวิตและสุขภาพคนไทย รวมถึงกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพ และการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชด้วย

นอกจากนี้ จะมีการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบจากอียูมากขึ้น  กระทบต่อสุขภาพคนไทย ส่วนประเด็นการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนได้นั้น จะทำให้ไทยเสียเอกสิทธิ์แห่งรัฐ และเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องค่าเสียหายได้







           อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยตระหนักดีถึงความกังวลต่างๆ และยืนยันว่า จะเจรจาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด และจะไม่ยอมทำข้อตกลงใดๆ ที่เกินกว่าที่ได้ตกลงไว้แล้วในข้อตกลงต่างๆ ภายใต้ดับบลิวทีโอ โดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์
(ทริปส์พลัส)

ที่สำคัญ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้หาทางออกไว้แล้ว และมั่นใจว่า จะนำมาใช้ต่อรองกับอียูอย่างไม่เสียเปรียบได้แน่นอน


ฟันนี่เอส



                                                                       21 ก.พ.56

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ระวัง!แก๊งต้มตุ๋นจีน










           ได้รับอี-เมล์จากสำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้ช่วยออกข่าวเตือนผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการทำการค้ากับจีน ให้เพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกิจ เพราะอาจถูกแก๊งมิจฉาชีพ หรือนักธุรกิจจีนบางราย หลอกลวงต้มตุ๋น จนทำให้เสียทรัพย์สินเงินทองได้








                               นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร” อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์)
  สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง




ในอี-เมล์ดังกล่าว เป็นคำเตือนจาก นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง จีน ว่า ขณะนี้ ปัญหาผู้ประกอบการไทยสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตจีนแล้วถูกโกงเงิน รุนแรงมากขึ้น จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
เฉพาะที่สำนักงานฯ กรุงปักกิ่ง ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับปัญหาการฉ้อโกงทางการค้าถึงปีละ 50 กรณี สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท











โดยรูปแบบการโกง มักจะมาในลักษณะ คู่ค้าจีนจะยื่นข้อเสนอขายสินค้าให้ในราคาต่ำแบบดึงดูดใจสุดๆ มองเห็นกำไรอยู่ตรงหน้า แต่ให้เวลาตัดสินใจซื้อช่วงสั้นๆ เพื่อเร่งรัดให้ตัดสินใจ และโอนเงินค่ามัดจำ มีผู้ประกอบการไทยหลายรายให้เงิน แต่ไม่ได้รับสินค้า นอกจากนี้ ยังมีกรณีผลิตสินค้าให้แล้ว ไม่ได้ตามคุณภาพมาตรฐาน หรือมีปริมาณไม่ครบตามที่ตกลงกัน
รวมถึงยังพบปัญหาแฮกเกอร์ระบาดมากขึ้น โดยกลุ่มมิจฉาชีพมักเฝ้าติดตาม และเจาะอีเมล์คู่ค้า รอจนฝ่ายไทยจะโอนเงินค่าสินค้า และสวมรอยเป็นคู่ค้าจีน จากนั้นอาจแจ้งเปลี่ยนเลขบัญชีธนาคาร เพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีแก๊งมิจฉาชีพ ทำให้ฝ่ายไทยไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงไว้
จึงขอเตือนผู้ประกอบการไทย อย่าเห็นแก่ของถูก เพราะของดี ราคาถูกไม่มีในโลกอย่าเชื่อข้อมูลคู่ค้าที่ค้นหาทางอินเตอร์เน็ต เพราะอาจเป็นข้อมูลปลอม ที่ทำขึ้นเพื่อใช้หลอกลวงต้มตุ๋น ควรเลือกคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิต เพราะมีทุนจดทะเบียนมาก มีโรงงานเป็นหลักแหล่ง ควรเปรียบเทียบข้อมูลจากผู้ผลิตหลายๆ ราย รวมถึงควรพบผู้ผลิตตัวจริงก่อนตัดสินใจทำการค้า
หากไม่มั่นใจ ควรติดต่อสำนักงานฯ กรุงปักกิ่ง หรือสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยในจีนทั้ง 8 แห่ง เช่น เซี่ยงไฮ้, เฉินตู, หนานหนิง, เซียะเหมิน ให้ช่วยคัดกรอง และส่งรายชื่อผู้ผลิตจีนที่เชื่อถือได้ให้
ถ้ายังไม่มั่นใจอีก สามารถตรวจสอบรายชื่อและข้อมูลของกิจการจีนได้ที่เว็บไซต์ เช่น www.yp.net.cn, www.chinaeall.com, www.cnaic.org.cn, www.114win.com ฯลฯ หรือถ้าจะให้ชัวร์ที่สุด ควรขอให้ทูตพาณิชย์ร่วมเจรจาการค้าด้วย



















สำหรับการทำสัญญาซื้อขายควรทำอย่างรัดกุม ควรติดต่อหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชน เช่น กระทรวงพาณิชย์จีน (MOFCOM) สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (CCPIT) สำนักบริหารการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติจีน (SAIC) เพื่อขอคำปรึกษาในการแก้ปัญหา หากเกิดการฉ้อโกงขึ้น
หากผู้ประกอบการไทย อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม หรือประสบเหตุถูกฉ้อโกงแล้ว ไม่รู้จะพึ่งใคร ก็ส่งอี-เมล์ร้องเรียนไปได้ที่อี-เมล์ของ “คุณไพจิตร” ที่ vphaichit@gmail.com    จะได้รับคำตอบ และการช่วยเหลืออย่างดีที่สุด
ในเวทีค้าขาย ไม่ได้มีแค่ในจีนเท่านั้น ที่จ้องต้มตุ๋น หลอกลวง “ไก่อ่อน” ทุกประเทศมีเหมือนกันหมด ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจทำธุรกิจ จะได้ไม่มีใครพลาดพลั้งถูกหลอกอีก




ฟันนี่เอส


                                                                        7 ก.พ. 56