หลังจากลุ้นอยู่นานว่ารัฐบาลจะมีมาตรการลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.56 อย่างไร
ในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ก็ได้เห็นชอบมาตรการลดผลกระทบดังกล่าวแล้ว ทั้งมาตรการด้านภาษี มาตรการสินเชื่อและเงินทุนหมุนเวียน และมาตรการอื่นๆ
แม้จะไม่สามารถลดผลกระทบให้กับเอสเอ็มอี และนายจ้างได้ทุกรายทั่วประเทศ หรือบางมาตรการ “เกาไม่ถูกที่คัน” แต่ก็ยังดีกว่า รัฐไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาช่วยเหลือเลย
ที่สำคัญ แม้มาตรการด้านภาษีที่ออกมานี้ จะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ปีละกว่า 2,800 ล้านบาท แต่ต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเอง เพื่อทำให้รัฐบาลไม่ถูกก่นด่า และเอสเอ็มอียังสามารถทำธุรกิจต่อไปได้
ไม่ใช่ทยอยตายหมู่จากนโยบายรัฐบาล ที่เป็นเหมือนดาบสองคม คมหนึ่งเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงาน แต่อีกคมหนึ่งกลับหวนหาทิ่มแทงเอสเอ็มอีให้ด่าวดิ้น เพราะการขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้เอสเอ็มอีเช่นกัน
โดยมาตรการด้านภาษี ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% สำหรับเอสเอ็มอีที่มีผลกำไรไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี จากเดิมที่กำหนดกำไรไม่เกิน 150,000 บาท คาดจะมีเอสเอ็มอี ที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 210,000 ราย จากกว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศ
การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอีออกไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุด 31 ธ.ค. 56 จากเดิมสิ้นสุด 31 ธ.ค.55 นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมและนิติบุคคลหักค่าใช้จ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำได้ 1.5 เท่า
การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่ามาซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การให้หักค่าเสื่อมเครื่องจักรใหม่ได้ 100% ในปีแรก
ส่วนมาตรการสินเชื่อ ได้แก่ ขยายเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จากเดิมสิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อ 23 เม.ย.57 เป็นสิ้นสุด 31 ธ.ค.58 การขยายเวลา โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ ออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อ 31 ธ.ค.58
รัฐบาลคาดว่า มาตรการสินเชื่อ จะมีเอสเอ็มอี ได้สินเชื่อเพิ่ม 80,000 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ 424,800 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 320,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2.328 ล้านล้านบาท
มาตรการอื่นๆ เช่น การลดค่าธรรมเนียมห้องพัก จาก 80 บาทเหลือ 40 บาทเป็นเวลา 3 ปี จัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการเพิ่มเติมสำหรับจัดสัมมนา เพื่อกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยว
ส่วนเอสเอ็มอี หรือนายจ้าง ที่ไม่ได้ประโยชน์ในครั้งนี้ ไม่ต้องร่ำไห้เสียใจ หรือรีบปิดกิจการไปก่อน เพราะ “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่ได้รับสิทธิให้ “ไวท์ไล” หรือ “โกหก” เพื่อชาตินั้น
ได้ออกปากขอร้องให้อดทนกันไปก่อน เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยสมดุล คนไทยทุกคนก็จะสบายกันแล้ว
ฟันนี่เอส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น