วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

คุมเข้มนำเข้าสินค้ารับ AEC




            







              ตอนนี้ เชื่อเหลือเกินว่าแทบจะทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทย ตื่นตัวเรื่องการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) ของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนกันมากขึ้น

            โดยเฉพาะผู้ประกอบการของไทย น่าจะสร้างจุดเด่น และปิดจุดด้อย หรือเร่งเสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิต และการแข่งขันอย่างเต็มที่ เพื่อให้พร้อมรับกับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้นภายหลังการเป็น AEC

              เนื่องจากจะมีการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และแรงงานอย่างเสรี ซึ่งจะทำให้การทำมาค้าขายระหว่างอาเซียนคล่องตัวมากขึ้น

              แต่ภายใต้การนำเข้าสินค้าอย่างเสรี ก็นำมาซึ่งความหวาดวิตก และความกังวล ทั้งของผู้ผลิตสินค้าของไทย และผู้บริโภค เพราะอาจมีการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค หรือนำเข้ามาอย่างไร้ขีดจำกัด จนกระทบต่อผู้ผลิตได้








             กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ออกประกาศจัดระเบียบการนำเข้าสินค้า 6 รายการ ได้แก่ มันสำปะหลัง หอมแดง ส้ม เครื่องในสุกร ยางรถยนต์ใหม่ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (พัดลม หม้อหุงข้าว และหลอดไฟ)

  เพื่อรองรับการเป็น AEC และเพื่อดูแลเกษตรกร ผู้ประกอบการในประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าที่มากเกินไป รวมถึงดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย

       โดยสาเหตุที่เลือกทั้ง 6 ชนิดนี้มาจัดระเบียบการนำเข้าก่อน เพราะกรมฯได้ประเมินแล้วว่าน่าจะมีปัญหาการนำเข้ามากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจุบันมีการนำเข้าจำนวนมากอยู่แล้ว และอีกส่วนมีการลักลอบนำเข้ามาบ้างตามแนวชายแดน เพื่อสวมสิทธิ์เกษตรกรไทยเข้าโครงการรับจำนำของรัฐบาล ส่งผลให้เกษตรกรไทยเสียสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ

             สำหรับมาตรการที่ใช้ดูแล กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าต่อกรมฯ ต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัย หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรองมาตรฐาน และต้องเก็บในสถานที่เก็บแยกต่างหากจากสินค้าปกติ ต้องรายงานการนำเข้า การครอบครอง การส่งออก สถานที่เก็บ การจำหน่ายจ่ายโอน ปริมาณคงเหลือ เป็นประจำทุกเดือน

             แต่หากยังมีข้อสงสัย สามารถดูรายละเอียดประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการนำเข้าเพิ่มเติมได้ที่ website: www.dft.go.th

 มาตรการเหล่านี้ ไม่ได้เพิ่มภาระในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเลย แต่ทำให้กรมฯติดตามดูแลการนำเข้าได้ว่า ใคร จะนำเข้าสินค้าใด เมื่อไร เพื่อประโยชน์อะไร มีสต๊อกสิเท่าไร เก็บไว้ที่ไหน ฯลฯ จากก่อนหน้านี้ ไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้เลย ซึ่งนอกจากจะป้องกันการนำเข้ามาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำแล้ว ยังช่วยไม่ให้เกษตรกรเสียประโยชน์ และไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนด้วย

ได้แต่หวังว่า การดำเนินการดังกล่าว จะเกิดประโยชน์กับทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และเกษตรกร อย่างแท้จริงอย่างที่กรมฯหวังไว้ เพราะคนไทยจะได้กิน ได้ใช้สินค้าดีๆ ไม่อันตราย และเกษตรกรจะได้ไม่ถูก ผีสวมสิทธิ์อย่างที่เป็นอยู่

                                                                                            
                                               ฟันนี่เอส


                                                                                                                         
                                                         31 ม.ค. 56
   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น