วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ไทยแชมป์ส่งออกข้าวโลก





 



 



              ในปีนี้ หลายฝ่าย เช่น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ไทยจะเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกให้กับอินเดีย โดยคาดไทยจะส่งออกได้เพียง 6.5-7 ล้านตัน แต่อินเดียจะได้มากกว่า 7 ล้านตัน

              เหตุผลสุดคลาสสิกของผู้ส่งออกคือ ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่งอื่นถึงตันละกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ จากนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ที่รับจำนำสูงถึงตันละ 15,000-20,000 บาท


                ขณะเดียวกัน ปีนี้อินเดียต้องเร่งโละสต๊อกข้าวเก่าในราคาต่ำติดดิน เพื่อเคลียร์พื้นที่ไว้เก็บข้าวใหม่ ส่วนเวียดนาม ก็ขายราคาต่ำ เพราะไม่มีสถานที่เก็บ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว จำเป็นต้องขายข้าวสดทันที

              โดยราคาส่งออกขณะนี้ของ International Trader ข้าว 5% ไทยตันละ 615 เหรียญฯ เวียดนาม 430 เหรียญฯ อินเดีย 420 เหรียญฯ ข้าว 10% ไทย 612 เหรียญฯ เวียดนาม 425 เหรียญฯ ข้าว 25% ไทย 584 เหรียญฯ เวียดนาม 390 เหรียญฯ อินเดีย 375 เหรียญฯ ข้าวนึ่ง ไทย 624 เหรียญฯ อินเดีย 510 เหรียญฯ







              ส่งผลให้ผู้ซื้อเมินข้าวไทย หันนำเข้าจาก 2 ประเทศแทน แต่กระทรวงพาณิชย์ กลับคิดต่าง และมั่นใจว่า ปีนี้ไทยจะรักษาแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกไว้ได้ ด้วยปริมาณการส่งออกที่ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านตัน แต่ราคาจะสูงกว่าราคาที่ขายได้ในปีก่อนมาก


              เหตุผลส่วนหนึ่งมากจาก อินเดียมีปัญหาส่งมอบให้ลูกค้าไม่ทัน และเวียดนามขายข้าวออกเกือบหมดแล้ว ลูกค้าจึงหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น





              แต่สาเหตุหลักคือ กระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาขายข้าวแบบมีรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับหลายประเทศปีนี้รวมแล้วมากกว่า 3 ล้านตัน อีกทั้งยังได้จับมือผู้ผลิตข้าวในอาเซียน ทั้งเวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว เพื่อทำการตลาดข้าวร่วมกันแล้ว ซึ่งจะผลักดันให้ราคาข้าวไทย และอาเซียนเพิ่มขึ้นได้ จากการไม่ขายตัดราคากันเอง โดยคาดราคาข้าวหอมมะลิไทยจะเพิ่มขึ้น 5% ข้าวขาวเพิ่มได้อีก 15%

                นอกจากนี้ ไทยจะร่วมมือกับอาเซียนสำรองข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ให้กับกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) 6 ประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทย และอาเซียน มีตลาดส่งออกข้าวที่แน่นอนในแต่ละปี





             ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้ซื้อข้าวทั่วโลก เข้าร่วมงาน มหกรรมข้าวไทยครั้งที่ 3” วันที่ 25-27 พ.ค.55 ณ ท่าข้าวกำนันทรง จ.นครสวรรค์ เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกยาวนานถึง 30 ปี และความเป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานข้าว จนสามารถยกระดับข้าวไทยให้เป็นข้าวดีที่สุดในโลก และขายได้ในราคาแพง ยกระดับชีวิตเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวทั้งหมด



                งานนี้ ถือได้ว่า เป็นเวทีที่ชาวนา โรงสี พ่อค้า และผู้ส่งออกข้าวไทยจะมารวมตัวกันเพื่อแสดง และจำหน่ายข้าว และผลิตภัณฑ์ เพื่อประกาศความเป็นศูนย์กลางข้าวโลก เพราะไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ดี มีข้าวพันธุ์ดี หลากหลายที่สุด ชาวนามีภูมิปัญญาในการเพาะปลูกข้าว มีเครื่องจักรกลทันสมัย มีโรงสีดีที่สุด ทำให้ข้าวไทยยืนหยัดเป็นแชมป์ข้าวโลก



                หวังว่างานนี้ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อต่างประเทศ หันมาเพิ่มปริมาณการซื้อข้าวไทย และทำให้ไทยรักษาแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกไว้ได้เหมือนเดิมตามประสงค์ของกระทรวงพาณิชย์



 

                                                                               ฟันนี่เอส



                                                                             24 พ.ค.55

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รัฐมนตรีที่ไม่น่าภาคภูมิ





 



              ตอนนี้ ภาระหนักของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้มีเพียงแค่การแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชนที่ กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง หรือการยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น
        
                แต่ยังมีภาระหนักที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 15% จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 260,000 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ หรือเกือบ 8 ล้านล้านบาท



            เพราะเครื่องจักรหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้คือรายได้จากการส่งออก ที่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศกว่า 60%  แต่ขณะนี้ เครื่องจักรหลักกำลังซวนเซ ไร้ทิศทาง และไม่รู้จะยังเป็นเครื่องจักรหลักที่ทำ ให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้อีกหรือไม่!!

              เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไตรมาสแรกปีนี้ติดลบถึง 3.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 54,641 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.69 ล้านล้านบาท ลดลง 1.63%







               สาเหตุหลักมาจากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปีก่อนโรงงานผลิตหลายแห่งเสียหาย และยังไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็ม 100% เหมือนช่วงก่อนน้ำท่วม



               ขณะเดียวกัน ตลาดส่งออกหลักๆ ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่น ภาวะเศรษฐกิจยังเปราะบาง โดยเฉพาะฝั่งยุโรป ที่การแก้ปัญหาหนี้สาธารณะยังไม่สำเร็จ และยังมีแนวโน้มขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของตลาดเหล่านี้ลดลง








              นอกจากนี้ ยังมีปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมันดิบ และราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะการขึ้นราคาอาจทำให้ลูกค้าหนีไปซื้อจากผู้ผลิตรายอื่น ที่มีต้นทุนต่ำกว่าแทน แต่ถ้าไม่ขึ้นราคาก็อาจต้องกลืนเลือดตัวเองในที่สุด


             เมื่อเห็นสารพัดปัญหารุมเร้าแบบนี้แล้ว อยากถาม นายภูมิ สาระผลรมช.พาณิชย์ ที่กำกับดูแลกรมส่งเสริมการส่งออกว่า วางแผนแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้มูลค่าส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกโดยเร็วที่สุด



              ที่ถามตรงๆ เพราะไม่เห็นฯพณฯท่านจะกระตือรือร้นทำงาน หรือกำหนดนโยบายแก้ปัญหา แต่กลับปล่อยให้กรมส่งเสริมการส่งออก ทำงานกันตามบุญตามกรรม ขณะที่ตนเองกลับเดินสายไปต่างประเทศไม่หยุด และไปแต่ละครั้งไม่มีผลงานให้เป็นที่ประจักษ์สมกับงบประมาณที่สูญเสียไป


              ถ้าเป็นแบบนี้ คงไม่จำเป็นต้องมีรัฐมนตรีมากำกับดูแลการทำงานของข้าราชการให้เสียงบประมาณแผ่นดินก็ได้
   





              ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ ผลสำรวจเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่องความพอใจของประชาชนต่อคณะรัฐมนตรีในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดว่า ประชาชนพอใจการทำงานของ นายภูมิเพียง 32.5% รั้งอันดับที่ 35 จากคณะรัฐมนตรี 38 คน  และยังติดอันดับ 4 ใน 10 รัฐมนตรีที่ชื่อไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนด้วย



          เดาได้ไม่ยากว่าการส่งออกปีนี้จะลูกผีหรือลูกคน ถ้าโตตามเป้าหมายก็ให้รู้ไว้ว่าเป็นฝีมือข้าราชการกรมส่งเสริมการส่งออก และภาคเอกชน ไม่ใช่รัฐมนตรี เฮ้อ! เห็นแล้วน่าภูมิใจแทนประชาชนที่เลือกมาเป็นส.ส. และผู้สนับสนุนให้มานั่งเป็นรัฐมนตรีจริงๆ


 

                                                                                 ฟันนี่เอส

                                                              17 พ.ค. 55

พาณิชย์ไร้ฝีมือแก้ของแพง









              เวลานี้ ถ้าไม่พูดถึงราคาสินค้าแพงคงจะตกยุค เพราะมีแต่คนบ่น อย่าง ฟันนี่เอสเวลาไปซื้อของแต่ละครั้ง ต้องใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างแพงขึ้นจริงๆ ไม่ได้รู้สึกนึกคิดไปเอง เหมือนที่นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อ้างอยู่ตลอดเวลา


            ว่าก็ว่าเถอะ เรื่องสินค้าแพง ถ้านายกรัฐมนตรี ยอมรับกับประชาชนตรงๆ ว่าแพงขึ้นจริง แล้วชี้แจงถึงสาเหตุ และบอกด้วยว่า รัฐบาลจะหามาตรการช่วยเหลือ ก็คงจะไม่เสียคะแนนเสียงจากประชาชน และไม่โดนฝ่ายค้านสาวไส้ สาดโคลนจนเละเทะขนาดนี้

            ตรงกันข้าม กลับจะได้ภาพบวกจากประชาชนมากกว่า เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่กล้ายอมรับความจริง ที่สำคัญ คนไทยกินข้าวกันทุกคน ไม่ได้กินหญ้า อย่าโกหกจะดีกว่า


            ฟันนี่เอสมองว่า ราคาสินค้าแพงขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้นจริง เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ประกอบการจะไม่ขึ้นราคา เพื่อให้ยังทำธุรกิจต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นจะขาดทุน และอาจต้องหยุดผลิต ผลที่ตามมาคือ ประชาชนเดือดร้อนจากสินค้าขาดแคลน


             หรืออย่างอาหารสด เมื่ออากาศร้อนจัดแบบนี้ ผลผลิตย่อมเสียหาย และลดลงมาก แต่เมื่ออากาศเริ่มเย็นลง ผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้นเองเป็นวัฏจักร





            แต่เรื่องแปลกอยู่ที่ว่า หน่วยงานที่ดูแลราคาสินค้า อย่างกระทรวงพาณิชย์ ที่มีรัฐมนตรีช่วยกันทำงานถึง 3 คน และยังมีข้าราชการที่ทำงานเรื่องนี้มาตลอดชีวิต กลับไร้ฝีมือแก้ปัญหา ทั้งที่มีมาตรการดูแลค่าครองชีพออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาตรการเหล่านั้น ผู้ปฏิบัติกลับไม่เคยทำให้สำเร็จ และไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพได้เลย


            ไล่เรียงตั้งแต่การออกราคาแนะนำอาหารปรุงสำเร็จ ร้านอาหารธงฟ้าขายอาหารปรุงสำเร็จจานละไม่เกิน 30 บาท จนมาถึงร้านถูกใจ โปรเจ็กต์ใหญ่ล่าสุด ที่ได้งบดำเนินการ 1,320 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายเปิดทั่วประเทศ 10,000 แห่ง แต่ตอนนี้ เปิดได้ไม่กี่ร้อยแห่ง ร้านโชห่วยเข้าร่วมโครงการยังห่างไกลเป้าหมายมาก





            อาจเป็นเพราะรมว.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ไม่เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหา ทั้งที่ปากท้องชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ และกอบโกยคะแนนเสียงชาวบ้านได้ แต่กลับไม่รีบเร่งดำเนินการ ส่วนรมช.ทั้ง 2 คนทุกวันนี้แทบไม่เห็นหน้า อย่างนายภูมิ สาระผล จะเน้นเดินสายไปต่างประเทศถี่ยิบ แต่ไม่เคยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่วนนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ จะมีแต่ตัดริบบิ้นเปิดงาน ถ้าไม่มีงานเหล่านี้ ก็จะไม่ได้เห็นหน้าเช่นกัน


              ขณะที่ข้าราชการที่เป็นผู้ปฏิบัติ ถ้าเจ้านายไม่ขันน็อต เพื่อให้งานเดินหน้า ก็จะทำบ้างไม่ทำบ้าง ผลงานที่ออกมาจึงเป็นอย่างที่ประชาชนเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ ที่สุดแล้ว ประชาชนเป็นผู้รับกรรมวันยังค่ำ





            แต่เมื่อรัฐบาลถูกโจมตีหนัก จนนายกฯนั่งไม่ติด และสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขนั่นล่ะ  จึงงัวเงียลุกขึ้นมาแก้ปัญหา แต่แนวทางไม่มีอะไรผิดไปจากเดิม ยังคงขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าตรึงราคาขาย 4 เดือน และหนีไม่พ้น ธงฟ้าราคาประหยัดรวมถึงเปิดขายอาหารปรุงสำเร็จราคาถูกทั่วประเทศต่อเนื่อง 2 เดือน


            คงต้องดูว่า มาตรการพื้นๆ แบบนี้ จะลดค่าครองชีพได้จริงตามที่กระทรวงพาณิชย์มั่นใจหรือไม่





                                                                                     ฟันนี่เอส



                                                                 10 พ.ค.55

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ร้านอาหารไทยในจีน






           



              เมื่อไปต่างประเทศ สำหรับคนไทยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องรีบมองหาคือ ร้านอาหารไทย เพราะเป็นอีกหนึ่งอาหารประจำชาติ ที่ชาวต่างชาติชื่นชอบมากที่สุดในโลก รองจากอาหารจีน อาหารฝรั่งเศส หรืออาหารอิตาเลียน

                แต่ในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน แทบไม่เห็นร้านอาหารไทยเลย ต่างจากยุโรป หรือสหรัฐฯ ที่มักเห็นดาษดื่น

               ด้วยความสงสัย จึงสอบถามจาก นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง ได้รับคำตอบว่า คนปักกิ่งส่วนใหญ่ไม่นิยมอาหารไทย โดยพื้นฐานแล้วชอบรสเค็ม อาหารมัน และชอบแป้ง เพราะปักกิ่งอยู่ตอนเหนือของประเทศ มีอากาศหนาว จึงต้องการอาหารที่ให้พลังงานสูง เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น แต่อาหารไทยมักมีรสจัด และไม่ให้พลังงานสูง

               อาหารไทยบางเมนูมีรสชาติ วัตถุดิบที่ใช้ หรือวิธีการปรุงใกล้เคียงกับอาหารจีนมาก โดยเฉพาะมีรสเผ็ดคล้ายอาหารของภาคใต้ อย่างเสฉวน ดังนั้น คนจีนจึงไม่ตื่นเต้นกับรสชาติอาหารไทยมากนัก













                                                    ภาพจาก  http://www.thaibizchina.com


              ต่างกับฝรั่งตะวันตก ที่ตื่นเต้นมาก เพราะทั้งรสชาติ และวัตถุดิบที่ใช้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงเป็นธรรมดาที่ทำให้ร้านอาหารไทยในประเทศเหล่านี้มีมากมาย แบบนับไม่ไหว ขณะที่ร้านอาหารไทยในจีน มีไม่กี่แห่งเท่านั้น

                ดังนั้น การเปิดร้านอาหารไทยในจีนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ฮอตฮิตติดตลาด แต่ก็ไม่ใช่จะทำไม่ได้เสียทีเดียว สิ่งที่ต้องทำคือ รัฐบาลไทยต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคจีนรู้จักอาหารไทยให้มากกว่านี้  รู้จักคุณประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ

               และต้องโรดโชว์ไปยังเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว และเมืองธุรกิจ เพื่อดึงดูดลูกค้าต่างชาติ ที่เดินทางมาท่องเที่ยว และทำธุรกิจในจีน ไม่ใช่ประชาสัมพันธ์เฉพาะแต่ในเมืองหลวงเท่านั้น







               ส่วนสัญลักษณ์ ไทยซีเลกต์ที่รัฐบาลมอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เพื่อรับประกันว่า ร้านอาหารนั้นๆ มีการให้บริการ รสชาติอาหาร ความสะอาดได้มาตรฐานตามที่กำหนด มีการสั่งซื้อวัตถุดิบประกอบอาหาร อย่างผัก เครื่องแกง เครื่องปรุงรส หรือของใช้บนโต๊ะอาหาร ของประดับและตกแต่งร้านจากเมืองไทยนั้น

               จำเป็นที่รัฐบาลต้องโหมประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ได้รับรู้ว่า เป็นสัญลักษณ์อะไร มีความสำคัญอย่างไร เพราะลำพังการมอบเครื่องหมายนี้ แล้วถ่ายรูปเอามาติดไว้ที่ฝาผนังในร้าน ไม่ได้ทำให้ลูกค้ารับรู้ได้ถึงความสำคัญของสัญลักษณ์นี้ได้เลย

                ที่สำคัญ หลังมอบ ไทยซีเลกต์แล้วต้องตรวจสอบต่อเนื่องว่าร้านอาหารเหล่านั้น ยังคงรักษาคุณภาพ มาตรฐานไว้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็ยึดคืน


                เคยแอบลุ้นช่วยให้กระทรวงพาณิชย์ปัดฝุ่นโครงการ ครัวไทยสู่ครัวโลกได้สำเร็จ เพราะนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์เคยประกาศตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ๆ แต่มาถึงตอนนี้ ชักไม่แน่ใจ เพราะหลายเดือนผ่านไป ยังไม่เห็นความคืบหน้า ขอเถอะ เลิกดีแต่พูดแล้วลงมือทำเสียที




                                                                                      ฟันนี่เอส
                                                                                     3 พ.ค.55