ท่านผู้อ่านหลายท่านถาม ”ฟันนี่เอส” ว่า
ไทยจะเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกจริงหรือ ถ้าเป็นจริง
จะเกิดผลอย่างไรบ้าง เพราะเห็นจากข่าวว่า
ไทยจะเสียแชมป์ให้กับคู่แข่งเวียดนามในเร็วๆ นี้
“ฟันนี่เอส” ขอใช้ความรู้เท่าที่มีอยู่อธิบายให้ฟังว่า
ในช่วงสัก 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวสารทุกชนิดรวมกันได้มากที่สุดในโลก
เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน จากผลผลิตข้าวเปลือกในประเทศเฉลี่ยประมาณ 30 ล้านตัน
หรือประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร ส่วนที่เหลือบริโภคในประเทศ
ขณะที่เวียดนาม ในช่วง 10
ปีที่ผ่านมา แม้ปริมาณส่งออกน้อยกว่ามาก เพียง 3-5 ล้านตัน
แต่ปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ล่าสุดปี 54 ส่งออกได้มากกว่า 7 ล้านตัน และในปีนี้ก็ตั้งเป้าหมายใกล้เคียงกัน
สาเหตุเพราะราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทยมาก เฉลี่ยตันละ 50-70 เหรียญสหรัฐฯ
บางช่วงห่างกันถึง 100 เหรียญฯ จึงเป็นแรงจูงใจอย่างดีให้ผู้นำเข้าทั่วโลก
ซื้อจากเวียดนามแทน
โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดซื้อขายข้าวโลกซบเซาอย่างในปัจจุบัน
และอินเดียหันกลับมาส่งออกอีกครั้งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เวียดนาม ต้องดัมพ์ราคาขายให้ต่ำกว่าเดิมมาก
เพื่อแข่งขันกับอินเดีย จึงทำให้ข้าวของทั้ง 2 ประเทศขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ผิดกับข้าวไทย
ที่ปริมาณการส่งออกใน 2 เดือนแรกของปีนี้
ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ระบุว่า ปริมาณส่งออกข้าวไทยวันที่ 1 ม.ค.-23ก.พ.55 ได้เพียง 465,081 ตัน ลดลง
41.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 796,724 ตัน
ผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า
การตั้งราคารับจำนำที่สูงมาก เป็นสาเหตุสำคัญให้ราคาส่งออกข้าวไทยสูงขึ้นตาม
และผู้ส่งออกไม่สามารถเสนอขายตัดราคาแข่งกับทั้ง 2 ประเทศได้ ลูกค้าจึงหนีหมด
แต่กระทรวงพาณิชย์
เห็นว่า ปริมาณที่ลดลง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไทยไม่จำเป็นต้องขายข้าวตัดราคากับคู่แข่ง
เพราะข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพยอดเยี่ยม โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ
ดังนั้น การขายให้ได้ราคาดี
เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ แม้ปริมาณส่งออกลดลง
แต่เงินที่กลับเข้าประเทศเพิ่มขึ้นมาก เป็นสิ่งที่น่าจะดีใจมากกว่า
กรณีเสียแชมป์หรือไม่
เป็นเรื่องมองต่างมุมของผู้ส่งออก และภาครัฐ ที่ฝ่ายหนึ่งมองในแง่ปริมาณ
ที่ต้องการส่งออกให้ได้มากๆ โดยไม่คิดถึงมูลค่าที่ขายได้ ส่งผลเสียตามมาคือ
ประเทศไทย ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ไม่สามารถกำหนดราคาข้าวได้อย่างแท้จริง
และยังทำให้ราคาข้าวในประเทศไม่สูงขึ้นตาม
อีกฝ่ายมองในแง่ของรายได้ที่จะกลับเข้าประเทศ
จะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะของดีต้องขายแพง เมื่อราคาส่งออกสูง
ราคาข้าวในประเทศจะสูงขึ้นตาม เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น
และเพื่อป้องกันการเสียตลาด
กระทรวงพาณิชย์จัดชั้นคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยใหม่แบ่งเป็นหลายเกรด ตามรสนิยม
และกระเป๋าของผู้บริโภค ซึ่งทำให้คนมีเงินน้อย ยังกินข้าวไทยเหมือนเดิม
“ฟันนี่เอส” ว่าการเสียแชมป์หรือไม่ไม่สำคัญ
สำคัญที่ไทยต้องวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูก และพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
ลดต้นทุนการผลิตให้ได้ เพื่อถีบตัวหนีคู่แข่ง ถ้าไม่ทำวันนี้...เวียดนาม
หรือกระทั่งกัมพูชา พม่า และลาวเบียดไทยตกเวทีโลกแน่
ฟันนี่เอส
8 มี.ค. 55
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น