เมื่อก่อนตอนอยู่แถวบางลำพู ย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ชอบเข้าไปซื้อของในร้านสหกรณ์กรุงเทพฯ เพราะมีข้าวของให้เลือกซื้อมากมาย ทั้งของกิน ของใช้ สารพัดอย่าง
แต่พอย้ายบ้านใหม่ นานๆ ครั้งจะมีโอกาสกลับไปบางลำพู และเยี่ยมเยียนร้านค้าสหกรณ์กรุงเทพฯอีก แต่ความรู้สึกในการซื้อของที่ร้านสหกรณ์ในวันนั้นต่างจากวันนี้มาก เพราะดูเก่าคร่ำคร่า ภายในร้านไม่อินเทรนด์สมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สินค้าที่ขายก็น้อยชิ้นลง
หนำซ้ำละแวกนั้น ยังมีร้านสะดวกซื้อหลายร้าน ที่ดึงดูดผู้คนแถวนั้นให้เข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ทั้งวัน เพราะรูปลักษณ์ภายนอกดูโดดเด่น ทัยสมัย สะอาด การจัดวางสินค้าง่ายต่อการหยิบจับ มีสินค้าหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในทุกช่วงวัย ที่สำคัญ เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนร้านค้าสหกรณ์บริเวณอื่นๆ นอกจากจะมีร้านสะดวกซื้อเป็นคู่แข่งแล้ว ยังมีห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์น เทรด) เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอีก เพราะมีสินค้าขายนับหมื่นรายการ ราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก มีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมสารพัด มีร้านอาหารให้เข้าไปนั่งพักกินข้าว แก้เหนื่อยแก้หิว ส่วนเด็กๆ ก็มีโซนของเล่นให้อีก ทำให้ห้างค้าปลีกกลายเป็นสถานที่สุขสรรของครอบครัวยุคปัจจุบันไปแล้ว
ไม่แปลกใจเลยว่า ทุกวันนี้ ทำไมผู้คนจึงชอบซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ และห้างค้าปลีกกันนัก ส่งผลให้ร้านค้าเหล่านี้ ขยายสาขากันเร็วกว่าดอกเห็ดหน้าฝนเสียอีก!!
ผลลัพธ์ที่น่ากลัวคือ การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ทำลายความรุ่งเรืองของธุรกิจค้าขายแบบเก่าโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะร้านโชห่วย ที่ค้าขายตั้งแต่รุ่นอากง อาม่า ล้มตายไปมาก ไม่เว้นกระทั่งร้านค้าสหกรณ์ จนปัจจุบันเหลือเพียง 276 ร้านทั่วประเทศ จากอดีตกว่า 700 ร้าน
นั่นจึงเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบสหกรณ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนธ.ค.53 โดยให้กระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อพัฒนาร้านสหกรณ์ให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคต
การประชุมครั้งแรกเมื่อ 29 มี.ค. โดยมีนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น มีรองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาให้ร้านค้าสหกรณ์ ปรับปรุงรูปแบบ และระบบสมาชิกให้ทันสมัย ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้
"ฟันนี่เอส” เห็นด้วยกับการช่วยเหลือร้านค้าสหกรณ์ ก่อนที่จะตายหมด เพราะร้านค้าสหกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชน โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตร และมีส่วนช่วยให้สมาชิกขายผลผลิตได้ หากสหกรณ์อยู่ได้ ชุมชนจะเข้มแข็ง ผู้คนในชุมชนก็จะเข้มแข็งตาม
นอกจากนี้ ยังมีสหกรณ์ข้าราชการทุกสาขาอาชีพ สหกรณ์แท็กซี่ ที่ขายสินค้าให้สมาชิกแบบสินเชื่อ หรือมีเงินปันผลให้ หากสหกรณ์อยู่ไม่รอด สมาชิกก็ลำบาก จะซื้อของสินเชื่อกับร้านสะดวกซื้อ หรือห้างค้าปลีกก็ไม่ได้
แต่ขออย่างเดียวคือ ให้ข้าราชการทำอย่างจริงจัง แม้รัฐบาลหมดอำนาจแล้ว ก็ขอให้ทำต่อ เพื่อให้ร้านค้าสหกรณ์เข้มแข็ง รับมือกับการแข่งขันได้ทุกรูปแบบ และเป็นที่พึ่งของสมาชิกตลอดไป
ฟันนี่เอส
31มีค54
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น