เมื่อต้นสัปดาห์ คณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) ได้ประกาศเพิ่มราคาประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สำหรับข้าวเปลือกนาปรัง ที่จะเริ่มใช้สิทธิ์เดือนมี.ค.นี้เฉลี่ยตันละ 500-1,000 บาท
โดยราคาประกันข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% เพิ่มเป็นตันละ 11,000 บาท จากเดิม 10,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 11,500 บาท จาก 11,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,500 บาท จาก 9,500 บาท รวมถึงให้เพิ่มปริมาณข้าวที่จะนำเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เป็น 30 ตันต่อราย จากเดิม 25 ตัน
คาดว่าจะใช้เงิน 30,417 ล้านบาท จากเดิมที่คาดเพียง 19,000 ล้านบาทเท่านั้น เหตุที่ต้องเพิ่มราคาประกัน เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก ทั้งจากค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ค่าพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะค่าเช่าที่นา ที่เพิ่มขึ้นถึง 60% จากไร่ละ 550 บาท เป็น 900 บาท
นอกจากนี้ จากราคาข้าวเปลือกในประเทศที่ตกต่ำอย่างหนัก คณะรัฐมนตรี สัปดาห์ก่อน ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งทำโครงการแทรกแซงราคาข้าวเปลือก โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รับซื้อจากเกษตรกร ตั้งเป้า 2 ล้านตัน เริ่มวันที่ 16 มี.ค.นี้ คาดจะใช้เงิน 20,000 ล้านบาท
เห็นอย่างนี้แล้ว “ฟันนี่เอส” ดีใจกับพี่น้องเกษตรกรด้วยใจจริง ที่จะขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น ที่สำคัญ ยังมีหลักประกันจากรัฐบาลว่า หากขายข้าวได้ในราคาต่ำ รัฐจะจ่ายเงินชดเชย และเข้าซื้อแทรกแซงราคาทันที
แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืน เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และชั่วรัฐบาลเท่านั้น ที่สำคัญ “ฟันนี่เอส” มองว่า รัฐบาลทำไปเพื่อหาเสียง เอาใจคนรากหญ้า ที่เป็นฐานะเสียงใหญ่ของประเทศ เพราะใกล้จะเลือกตั้งใหญ่แล้ว
หากรัฐบาลมีความจริงใจ ต้องการให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน มีรายได้ที่มั่นคงตลอดไป รัฐบาลควรพูดถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการลดต้นทุนการผลิต จะดีกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อทำสำเร็จแล้ว จะอยู่คู่กับเกษตรกรไปตลอด
นอกจากนี้ รัฐบาลควรทุ่มงบวิจัยและพัฒนาให้กับการเกษตร หากต้องการให้ไทยเป็นครัวของโลก แต่ทุกวันนี้ แม้ไทยจะส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก มีรายได้จากการส่งออกข้าวปีละหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเวียดนามมาก โดยข้าวไทย 1 ไร่ให้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัม แต่เวียดนามมากถึงกว่า 600 กิโลกรัม
นี่ยังไม่ได้พูดถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น กัมพูชา ลาว พม่า ที่หันมาผลิตสินค้าเกษตรมากขึ้น หลังประสบวิกฤติอาหารเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเดาได้เลยว่า ในอนาคตจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยอย่างแน่นอน
“ฟันนี่เอส” อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของไทย ร่วมแรงร่วมใจพัฒนาการเกษตรของไทยให้ดีขึ้นกว่านี้ อย่าหวังกินบุญเก่า และหลงยกหางตัวเองว่าเป็นครัวของโลกอยู่เลย เพราะคนหยิ่งผยองมักมองไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง และขาดการปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ฟันนี่เอส
10 มี.ค.54
10 มี.ค.54
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น