ตอนนี้ ธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลด้วยทุนจดทะเบียนสูงมากๆ คงจะร้อนๆ
หนาวๆ ไปตามๆ กัน เพราะขณะนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
อยู่ระหว่างการตรวจสอบทางบัญชีของนิติบุคคลเหล่านั้นอยู่
โดยจะดูว่า
จดทะเบียนด้วยทุนสูงมากผิดปกตินั้น มีเงินทุนเข้ามาในกิจการจริงหรือไม่
มีความตั้งใจทำธุรกิจจริงหรือไม่ หรือตั้งใจตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อหลอกลวงประชาชน
ล่าสุด ได้ตรวจสอบทางบัญชีของนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาทขึ้นไปแล้ว ประมาณ 80 ราย และพบความผิดปกติใน 30 ราย
เพราะภายหลังการจดทะเบียนนิติบุคคลมานานแล้ว แต่ไม่มีการชำระทุนจดทะเบียน
ไม่แสดงบัญชีต่อกรมฯ เมื่อติดต่อสอบถามไปก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับ
นอกจากนี้
ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5,000-9,999 ล้านบาท ประมาณ 120 รายด้วย
ซึ่งหากพบความผิดปกติ กรมฯจะขึ้นข้อความเตือนในหนังสือรับรองของบริษัทเหล่านั้นว่า
“นิติบุคคลนี้ไม่ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือ
และสามารถยืนยันได้ว่ามีการชำระค่าลงทุนตามที่ขอจดทะเบียนจริง”
เพื่อให้ประชาชน หรือนักธุรกิจ ที่ต้องการทำธุรกรรมด้วย ได้รับทราบ
และเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้น อาจถูกหลอกลวง
และได้รับความเสียหายได้
ที่สำคัญ
กรมฯจะติดตามข้อมูลทางบัญชีของบริษัทเหล่านี้อย่างใกล้ชิดในปีต่อๆ ไป หากพบข้อมูลทางบัญชีบกพร่อง
หรือมีการกระทำผิดกฎหมาย จะมีโทษทั้งจำคุก และปรับ
อีกทั้งยังจะจัดส่งรายชื่อธุรกิจที่กระทำผิดกฎหมายไปยังกรมสรรพากร สภาวิชาชีพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
(ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาเหตุที่กรมฯต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เป็นเพราะปัจจุบัน
มีข่าวไม่ดีกับการดำเนินธุรกิจของนิติบุคคล ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ
หรือสร้างความเคลือบแคลงสงสัยในสังคม เช่น แชร์ลูกโซ่
จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องตรวจสอบ โดยใช้อำนาจตามกฎหมาย
เพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และกำกับธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจ
ให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ
ในปีนี้ กำหนดเป้าหมายการตรวจสอบทางบัญชีของภาคธุรกิจกว่า
300,000 ราย ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการจัดทำบัญชี
และงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน และตามความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.58 เป็นต้นมา กรมฯได้เพิ่มความเข้มงวดรับจดทะเบียนจัดตั้ง และเพิ่มทุนของห้างหุ้นส่วน
และบริษัทให้มากขึ้น โดยให้มีการส่งเอกสารประกอบการจดทะเบียนที่น่าเชื่อถือ
และสามารถยืนยันได้ว่ามีการชำระเงินลงทุนตามที่ขอจดทะเบียนจัดตั้ง
หรือจดทะเบียนเพิ่มทุน
โดยให้เริ่มบังคับใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียนเกินกว่า 5
ล้านบาทขึ้นไปก่อน ซึ่งจะมีผลต่อผู้ยื่นจดทะเบียนตั้งใหม่ประมาณ 2,500 รายต่อปี จากยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ 60,000 – 65,000 รายต่อปี
การคุมเข้มแบบนี้ แก๊งค์ต้มตุ๋น ที่ต้องการตั้งบริษัทเพื่อหลอกลวงประชาชน
คงจะทำยากขึ้น และน่าจะสร้างธรรมาภิบาล
ความโปร่งใสในภาคธุรกิจของไทยได้มากขึ้นด้วย!
ฟันนี่เอส
5 มี.ค.58
5 มี.ค.58
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น