วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ขึ้นราคาแท็กซี่มิเตอร์












         ประชาชนคนไทยยังดีใจกับของขวัญปีใหม่ของรัฐบาลนี้ได้ไม่เท่าไร ก็ต้องรู้สึกขัดใจ และแอบเซ็งเล็กๆ เพราะจู่ๆ กระทรวงคมนาคมกลับประกาศปรับขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์ กระชากความรู้สึกแฟนคลับรัฐบาลซะอย่างนั้น
   
         โดยสาเหตุที่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์ เป็นเพราะเห็นงามตามเหตุผลที่พี่น้องแท็กซี่มิเตอร์ยกมากล่าวอ้างว่า ไม่ได้ขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี 51 ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
   
         ที่สำคัญ แก๊สหุงต้มยังปรับขึ้นราคาซ้ำเติมอีก ส่งผลให้ผู้ขับขี่แท็กซี่แทบอยู่ไม่รอด จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน



   


          สำหรับอัตราใหม่ กำหนดให้ระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.) แรกเร่ิมต้นที่ 35 บาทเท่าเดิม แต่กม.ที่ 1-10 คิดกม.ละ 5.50 บาท, กม.ที่ 10-20 กม.ละ 6.50 บาท, กม.ที่2 0-40 กม.ละ 7.50บาท, กม.ที่ 40-60 กม.ละ 8 บาท, กม.ที่ 60-80 กม.ละ 9 บาท และตั้งแต่กม.ที่ 80 คิด กม.ละ 10.50 บาท กรณีที่รถไม่สามารถเคลื่อนที่ หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กม.ต่อชั่วโมง หรือรถติด คิดนาทีละ 2 บาท
   
         ส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารของผู้รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท และกรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 50 บาท
   





        โดยค่าแท็กซี่มิเตอร์ใหม่ คาดจะเริ่มเก็บจริงราวสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ เฉพาะรถแท็กซี่ที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานมิเตอร์เก็บเงินแล้วเท่านั้น ซึ่งจะมีสติกเกอร์ติดที่ข้างรถว่าเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ ส่วนแท็กซี่ที่ยังไม่ได้นำมิเตอร์ไปตรวจสอบ จำเป็นต้องตรวจสอบ และผ่านการรับรองก่อนจึงจะเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ได้
   
        อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า การขึ้นค่ามิเตอร์นี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นการปรับขึ้นขณะที่ประชาชนกระเป๋าฉีก จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก ขณะเดียวกัน แม้ราคาแก๊สปรับขึ้น แต่ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลในการเติมแก๊สราคาถูกกว่ารถบ้าน จึงไม่น่าขึ้นราคาเพื่อซ้ำเติมประชาชน
   
       “ฟันนี่เอสเคยถามแท็กซี่หลายคัน ส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า ถ้าขยันๆ จะมีรายได้วันละเกือบพันบาท หรือบางรายเกินพันบาทด้วยซ้ำ ซึ่งหักค่าเช่ารถ และค่าแก๊สแล้ว คิดเล่นๆ ถ้ามีรายได้วันละ 800-1,000 บาท ใน 1 เดือนจะมีรายได้ถึง 24,000-30,000 บาท มากกว่ามนุษย์เงินเดือนด้วยซ้ำ    
   
       แต่ก็เอาเถอะ! เมื่อให้ปรับขึ้นไปแล้ว ผู้โดยสารอย่างเราๆ จะเรียกร้องหาคุณภาพในการให้บริการจากผู้ขับขี่ได้หรือไม่ เพราะทุกวันนี้ พฤติกรรมแท็กซี่สุดทนจริงๆ โดยเฉพาะการปฏิเสธผู้โดยสาร บางคันเลือกรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่เห็นหัวคนไทย บางรายขับรถอ้อม เพื่อให้มิเตอร์ขึ้นเยอะๆ
   





        ส่วนบางรายไม่กดมิเตอร์แต่จะต่อรองราคากับผู้โดยสารแบบโขกราคาเกินจริง โดยเฉพาะในจุดที่เป็นสถานีขนส่ง ยิ่งในช่วงเทศกาล ประชาชนกลับบ้านแล้วหอบหิ้วของพะรุงพะรัง จะเดินไปหาแท็กซี่ภายนอกสถานีก็ไม่ไหว จึงจำใจขึ้น ทั้งที่รู้ว่าถูกเอาเปรียบอย่างน่าเกลียดที่สุด
   
         ถ้าขึ้นราคาไปแล้ว ผู้โดยสารก็อยากเรียกร้องบริการที่ดีขึ้นบ้าง กระทรวงคมนาคม จช่วยดูแลได้หรือไม่ กฎหมายที่มีอยู่ จะเพิ่มโทษแท็กซี่ที่มีพฤติกรรมเลวๆ ได้หรือไม่ เพื่อให้หลาบจำและเลิกทำพฤติกรรมทุเรศๆ เสียที
   
       ช่วยดูแลผู้โดยสารกันบ้างเถอะ! ได้โปรด!! อย่าเอาใจแต่ผู้ขับขี่แท็กซี่เลย
                       



                                                                                    ฟันนี่เอส

                                                                                  18 ธ.ค.57

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฟาร์มเอาท์เลต:เพื่อชีวิตที่มั่นคง


                                                





          
               ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา กรมการค้าภายใน ได้ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน หรือฟาร์มเอาท์เลต เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้ผันผวน เพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

               แม้ทั่วประเทศจะมีชุมนุมสหกรณ์ หรือสหกรณ์การเกษตรอยู่มาก แต่ไม่ใช่ทุกแห่งจะประสบความสำเร็จ บางแห่งมีแค่ตัวอาคาร ไม่มีการซื้อผลผลิตจากสมาชิก หรือถ้ามีการซื้อผลผลิต ก็วางขายกันแบบสะเปะสะปะ ไม่จัดหน้าร้านสะอาด หาสินค้าง่าย หรือคนขายหน้าตาไม่รับแขก พูดจาแบบมะนาวไม่มีน้ำ







               กรมฯจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมนุมสหกรณ์ หรือสหกรณ์การเกษตร ในแต่ละชุมชนมีฟาร์มเอาท์เลต เพื่อเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิต และขายสินค้าให้คนในชุมชน ชุมชนใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

               สินค้าที่นำมาวางขาย มีทั้งสินค้าขั้นปฐม หรือสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูป เช่น ข้าวสาร ผัก-ผลไม้ปลอดสารพิษต่างๆ และสินค้าเกษตรกรแปรรูป ซึ่งกรมฯจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้ชาวบ้านในชุมชนผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มให้ได้หลากหลายชนิด








                  เช่น ถ้าเป็นแหล่งผลิตผลไม้ ผลไม้ตกเกรดที่ขายไม่ได้ สามารถนำมาแปรรูปได้  เช่น ทุเรียนอบ-ทอดกรอบ มังคุดอบ ลำไยอบ ลิ้นจี่อบ แก้วมังกรอบ มะม่วงอบ หรือถ้าอยู่ใกล้ทะเล ก็เอาอาหารประมงมาแปรรูป เช่น ข้าวเกรียบหอยนางรม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาก

                 นอกจากนี้ กรมฯยังจะช่วยเชื่อมโยงผลผลิตในแหล่งเพาะปลูกกระจายไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศในช่วงที่ผลผลิตออกมาก เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกในการขาย ทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย พาไปศึกษา/อบรมดูงานด้านต่างๆ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร ให้ความรู้เทคนิคการขาย








                 ส่งผลให้หลายชุมชน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากการขายสินค้าเกษตรแปรรูป ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ และกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง

                ฟาร์มเอาท์เลต ที่สำเร็จมากในด้านการตลาด เช่น อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่กรมฯได้ส่งเสริมให้ผู้ปลูกข้าวหอมจังหวัดทำข้าวสารบรรจุถุงขายถูกกว่าท้องตลาด ภายใต้แบรนด์ ข้าวหอมกาญจน์ 

            ในช่วงแรกขายคนในชุมชน แต่เมื่อขายดีขึ้น ก็เริ่มขายในห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าในจังหวัด สถานที่ราชการ ตลาดนัด งานธงฟ้า ขณะนี้กระจายสินค้าไปจังหวัดใกล้เคียงแล้ว และยังมีข้าวชนิดอื่นเพิ่มอีก เช่น ข้าวหอมจังหวัดสีนิล

                ล่าสุด ผู้ปลูกข้าวหอมจังหวัด 900 รายได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับโรงสีในการรับซื้อข้าวเปลือกตันละ 13,000 บาท ความชื้น 15% นำไปบรรจุถุงขาย ราคาข้าวเปลือกตันละ 13,000 บาทสูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และกรมฯจะนำแนวทางนี้ไปใช้กับชาวนาจังหวัดอื่นด้วย

                ปัจจุบัน ฟาร์มเอาท์เลตมี 21 แห่งใน 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชัยนาท นครสวรรค์ จันทบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ศรีสะเกษ มุกดาหาร ขอนแก่น นครศรีธรรมราช กระบี่ สุราษฎร์ธานี ระนอง สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา

               หวังว่าโครงการดีๆ แบบนี้ กรมฯจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงให้เกษตรกรไทย ไม่ใช่ทำแบบฉาบฉวย เผลอเป็นเลิกทำ เหมือนโครงการอื่นๆ 


                                                          

                                                                ฟันนี่เอส

                                             4
ธ.ค.57