ไม่เกินความคาดหมาย
รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี 57
ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯประกาศสัปดาห์ก่อน โดยไทยอยู่ในระดับต่ำสุดคือ ระดับ
3 (Tier3) จากระดับ 2 แบบถูกจับตามอง (Tier 2 Watch List) ติดต่อกันถึง 4 ปี
ไทยติดโผประเทศที่มีการค้ามนุษย์
และใช้แรงงานผิดกฎหมาย
ไม่สอดคล้องกับกฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯมาหลายปีแล้ว
แต่หน่วยงานหลักของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ
แทบไม่ได้แก้ปัญหาจริงจัง
ปล่อยให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเสี่ยง เช่น ประมง สิ่งทอ อ้อย ฯลฯ
แก้ปัญหาแบบตามมีตามเกิด ทั้งๆ ที่ ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ
เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไข เพราะการค้ามนุษย์ในไทย
ทำกันเป็นขบวนการ มีคนเกี่ยวข้องมาก โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจในหน่วยงานภาครัฐ
เพิ่งเห็นช่วง 1-2 ปีให้หลัง
ที่หน่วยงานเหล่านี้เร่งรีบแก้ไข
เพราะถึงเวลาที่สหรัฐฯจะประกาศรายงานการค้ามนุษย์ปี 57 เช่น
ดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์และบังคับใช้กฎหมาย, คุ้มครองสวัสดิการแรงงาน โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณกว่า 190 ล้านบาท เป็นต้น
การอยู่ในระดับ 3
เป็นระดับที่ให้อำนาจรัฐบาลสหรัฐฯ เพิกถอนความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่ให้กับไทย
ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการค้า และมนุษยธรรม ภายใน 90 วัน แต่ระหว่างนี้
หรือไม่เกิน 30 วัน รัฐบาลไทย
ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาแรงงาน และนำเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
เพื่อโน้มน้าวให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ไม่ยกเลิกความช่วยเหลือไทย
แต่ในเบื้องต้น “นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ” ปลัดกระทรวงพาณิชย์
สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
เดินสายชี้แจงทำความเข้าใจรัฐบาลสหรัฐฯ สภาคองเกรส บริษัทค้าปลีก และผู้นำเข้า
ถึงแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจนกระทบต่อการค้า
จากนั้น
กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับภาคเอกชน เพื่อประเมินผลกระทบและกำหนดท่าทีดำเนินการ
ก่อนส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการเสนอให้สหรัฐฯพิจารณา นอกจากนี้
ยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ยื่นถอดถอน 5 สินค้า ได้แก่ กุ้ง เครื่องนุ่งห่ม
อ้อย สื่อลามก และปลา ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กล่าวหาไทยใช้แรงงานเด็ก
หรือแรงงานบังคับออกจากบัญชีนี้ด้วย ก่อนประกาศผลเดือนก.ย.นี้
ส่วนแผนระยะยาว
ได้ตั้งคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงาน
เพื่อให้ไทยป้องกันและแก้ปัญหาและผลกระทบทางการค้าจากปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์อย่างรอบด้าน
มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว
ที่จัดตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย
หวังว่า
การทำงานของภาครัฐ และภาคเอกชน จะบรรลุผลสำเร็จ แก้ปัญหาแรงงานได้ในระยะยาว
และไม่ทำให้นานาประเทศใช้เป็นข้ออ้างกีดกันการค้ากับไทยได้อีกต่อไป