วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทเรียนแอร์พอร์ตลิงค์สู่ 2 ล้านล้าน











           “คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความคุ้มค่าของแอร์พอร์ตลิงค์ ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท และเตือนสติรัฐบาลชุดนี้ให้มองถึง บทเรียนที่เกิดขึ้น และคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณในโครงการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท

          โดยจากการวิเคราะห์ของสถาบันฯ พบว่า แอร์พอร์ตลิงค์ ที่รัฐบาลยุคนั้นวาดฝันไว้อย่างสวยหรู กลับมีผลดำเนินงานต่างจากแผนงานอย่างสิ้นเชิง!!

          เพราะปัจจุบัน มีผู้โดยสารใช้บริการจริงเฉลี่ย 40,811 คนต่อวันเท่านั้น แบ่งเป็นผู้โดยสารของซิตี้ไลน์ 38,230 คนต่อวัน และเอ็กซ์เพรสไลน์ 2,581 คนต่อวัน จากที่ระบุในแผนคาดจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 95,900 คนต่อวัน แบ่งเป็นซิตี้ไลน์  87,700 คนต่อวัน และเอ็กเพรสไลน์ 8,200 คน  






          ส่วนบริการเช็คอินและขนถ่ายสัมภาระผู้โดยสาร ที่ระบุในแผน สถานีมักกะสันจะเป็นสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารจากสนามบินสุวรรณภูมิ และนำสัมภาระมาเช็คอินเพื่อใช้บริการขนถ่ายสัมภาระไปสุวรรณภูมิ แต่กลับมีผู้โดยสารเช็คอินเฉลี่ย 12 คนต่อวันเท่านั้น

          ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก อีกทั้งยังไม่สามารถกู้เงินเพื่อซื้อรถไฟฟ้าขบวนใหม่ ทดแทนขบวนปัจจุบัน ที่ต้องซ่อมบำรุงเมื่อใช้งานครบ 1 ล้านกิโลเมตรในปี 57 และยังไม่ได้รับอนุมัติงบจากกระทรวงการคลัง เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง แม้เมื่อเร็วๆ นี้ แอร์พอร์ตลิงค์ระบุว่า ขณะนี้มีรายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว 

         จากปัญหาที่เกิดขึ้น คุณเศรษฐพุฒิระบุว่า เป็น บทเรียนที่ต้องแก้ไข โดยบทเรียนที่ 1 ข้อมูลโครงการลงทุนของรัฐควรเปิดเผยและเข้าถึงง่าย บทเรียนที่ 2 ตั้งคำถามกับตัวเลขต่างๆ  ที่รัฐนำเสนอว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ บทเรียนที่ 3 เปรียบเทียบงบประมาณที่จะใช้กับโครงการแบบเดียวกัน เช่น โครงการ 2 ล้านล้านบาท ควรเปรียบเทียบกับงบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้งบถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด 






          บทเรียนที่ 4 ให้ความสำคัญกับทักษะบริหารจัดการโครงการ โดยโครงการ 2 ล้านล้านบาท สังคมควรตั้งคำถามว่า ใครควรบริหารและจัดการ การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดภาระผูกพัน

          บทเรียนที่ 5 การประเมินความเป็นไปได้ของโครงการดีพอหรือไม่ และใครเป็นผู้ประเมินความคุ้มค่า ซึ่งโครงการ 2 ล้านล้านบาท ผู้รับผิดชอบคือ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แต่ที่ผ่านๆ มา สบน. จะตรวจสอบหลังจบโครงการแล้ว และประเด็นที่ตรวจสอบไม่สะท้อนถึงความคุ้มค่าของโครงการ และบทเรียนสุดท้าย ใครคือผู้รับผิดชอบโครงการ หากไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่ต้องการให้โครงการ 2 ล้านล้าน เกิด ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยควรปรับปรุงระบบประเมินผลทั้งก่อน และหลังอนุมัติดำเนินการใหม่

         ฟันนี่เอสมองว่า แอร์พอร์ตลิงค์ เป็นโครงการที่ดี ที่ช่วยอำนายความสะดวกในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว และคนไทยได้ แต่เพราะการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง จึงกลายเป็น ความอัปยศของประเทศ เหมือนเสาตอม่อ โฮปเวลที่ตั้งเป็นอนุสรณ์ประจานการทุจริตคอรัปชัน

          เมื่อมีคนเตือนสติดังๆ แบบนี้ รัฐบาลควรจะรับฟังไว้บ้าง เพื่อให้การใช้งบประมาณคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถ้ายังเพิกเฉย ยังมีภาคประชาสังคม ที่กำลังรอจับผิดอยู่ ระวังตัวไว้ให้ดีแล้วกัน 



                                                                                ฟันนี่เอส


                                                                               26 ก.ค.56

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น