วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อย่าเล่นปาหี่!


 








ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประเด็นเรื่องข้าว น่าจะเป็นประเด็นเดียวที่ไม่เคยรอดพ้นจากการอภิปรายเลย เพราะมีเรื่องให้ต้องขุดคุ้ยอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะประเด็นการทุจริต คดโกง ไม่ว่าจะเป็นในโครงการรับจำนำข้าว โครงการประกันรายได้เกษตรกร รวมถึงการขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล
 



 
 
 
 
 
 
 
 

 

เพราะ ข้าวสำหรับประเทศไทย ได้กลายเป็นสินค้าการเมืองไปเสียแล้ว โดยแทบจะทุกรัฐบาล ต้องใช้ข้าว รวมถึงสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นตัวหาเสียง เอาใจประชาชนระดับรากหญ้า ที่เป็นฐานเสียงกลุ่มใหญ่ของประเทศ

 

เมื่อใดที่ทำให้ฐานเสียงกลุ่มนี้ มีรายได้สูงขึ้นจากการขายสินค้าเกษตรของตนเอง มีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอย และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลก็จะได้ใจ และได้เสียงจากคนกลุ่มนี้ไปเต็มๆ

 

ดังนั้น แทบจะทุกรัฐบาล จึงต้องดำเนินโครงการแทรกแซงราคาข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วยวิธีการแตกต่างกันไป เช่น การรับจำนำ การประกันรายได้ หรือการตั้งโต๊ะรับซื้อขาด โดยแต่ละละโครงการจะมีการทุจริต โกงกินด้วยวิธีการต่างๆ มากมายสารพัดรูปแบบที่จะสรรหามาใช้กัน

 

เพื่อหวังเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง พวกพ้อง และพรรคการเมือง ถึงขั้นปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นประเพณี ที่เมื่อพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็มักจะจ้องฮุบกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีสต๊อกข้าว เป็น “ขุมทรัพย์”

 

ซึ่งการทุจริต โกงกินชาติบ้านเมืองเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ แต่เกิดขึ้นมาแล้วน่าจะในทุกรัฐบาล รัฐบาลไหนที่เข้ามาแล้วบอกว่า จะทำโครงการจำนำข้าวอย่างโปร่งใส ไร้ทุจริต ขอให้ “อย่าหลงเชื่อ” โดยเด็ดขาด!! เพราะไม่มีวัน และไม่มีทางจะเป็นแบบนั้นได้แน่

 

อีกทั้งการโกงกิน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในระดับนโยบาย หรือผู้มีอำนาจสั่งการใหญ่ที่สุดเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับข้าว
 
 
 
 
 
 

 
 
 
 

ไล่ไปตั้งแต่ชาวนา พ่อค้าท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จังหวัด เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เจ้าหน้าที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) เจ้าของโรงสี เจ้าของคลังสินค้าฝากเก็บข้าว พ่อค้าผู้ส่งออก ไปจนถึงข้าราชการระดับล่างไปจนถึงบน

 

ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้รวยอู้ฟู่ไปตามๆ กัน ในขณะที่ประชาชนคนไทย ที่เป็นผู้เสียภาษี ให้รัฐนำเงินไปใช้ดำเนินโครงการเหล่านี้กลับไม่ได้อะไรเลย นอกจากการกินข้าวแพงขึ้น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (ซึ่งยอมรับได้ และเต็มใจจะทำ)

 







แต่สิ่งที่รับไม่ได้ และไม่เต็มใจจะทำเลยคือ “ความโง่” ที่รัฐบาลยัดเยียดให้ จากความพยายามที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยหลอกลวง ตบตา พูดจาหว่านล้อมให้ประชาชนเชื่อไปต่างๆ นานาว่า รัฐบาลทำทุกอย่างเกี่ยวกับข้าวอย่างถูกต้อง โปร่งใส ไร้ทุจริต คอร์รัปชัน

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของพรรคฝ่ายค้าน เป็นเรื่องดี ที่จะ “สาวไส้” ให้ประชาชนได้รับรู้พฤติกรรมการโกงกินชาติบ้านเมืองของรัฐบาล แต่จะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ขอร้อง! อย่าทำกันแบบ “ปาหี่” หรือแค่เล่นละครตบตาประชาชน ด้วยเพราะกลัวว่า ฝ่ายรัฐบาลอาจมีข้อมูลเด็ดมา “ลากไส้” ตัวเองกลับบ้าง

 

แต่ขอให้เอาจริงเอาจัง แบบเล่นงานไม่ยั้ง ไม่วางมือ เพราะคนไทยเบื่อหน่ายการฉ้อราษฎร์บังหลวง โกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าแบบไม่รู้จบของพวกนักการเมืองเต็มทนแล้ว!!

 

 

 ฟันนี่เอส

 
29 พ.ย.




 

................ 

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ล้างภาพห่วยร.ฟ.ท.












 


ในที่สุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็ได้ผู้ว่าการคนใหม่แล้ว ไม่ใช่ใครที่ไหน นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

 

ถือเป็นคนนอกองค์กรคนแรกที่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดนี้ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟขึ้น มาตั้งแต่เดือนต.ค.2433

 

ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การบริหารงานคงทำได้ยากกว่าการเอาคนในขึ้น เพราะยังไม่มีใครรู้จักฝีมือ หรือคนในอาจจะอยากลองของ หรืออาจจะยังไม่ไว้วางใจว่าจะสามารถบริหารงานได้ตลอดรอดฝั่ง จะสามารถล้างหนี้สะสมเกือบ 1 แสนล้านบาท และจะทำให้ความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้นได้

 

แม้รับตำแหน่งวันแรก นายประภัสร์ ยืนยันกับพนักงานว่า จะเข้ามาล้างหนี้ 7 ชั่วโคตรให้หมดไป และจะทำให้ความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้นกว่าเดิมให้ได้

 

ก็ขนาดผู้ว่าฯที่มาจากคนในเอง ที่รู้จักธรรมชาติของพนักงาน และรู้จักวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดี ยังไม่มีใครสามารถสะสางปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะมัวแต่ขัดแข้งขัดขากันเอง ดึงถ่วงกันสารพัด จนทำให้องค์กรไม่ก้าวหน้า ทันสมัย มีหนี้สินรุงรัง กลายเป็นองค์กรสุดห่วยได้อย่างไม่น่าเชื่อ!!

 
 
 
 
 
 

ทั้งๆ ที่ การมีกิจการรถไฟในประเทศไทย สมัยราชการที่ 5 ทำให้ไทยทันสมัยที่สุดในอาเซียน แต่ร.ฟ.ท.กลับบริหารงานได้อย่างน่าผิดหวังอย่างรุนแรง สภาพรถไฟเก่า โทรม สกปรก ห้องน้ำไม่ถูกสุขลักษณะ ของเสียที่ผู้โดยสารถ่ายออกมาก็ตกลงบนรางรถไฟ ทำให้ราง และพื้นที่ตลอดเส้นทาง เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค แม้พนักงานบนรถไฟจะให้บริการดีขนาดไหน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากใช้บริการจริงๆ

 

  สำหรับสิ่งที่ผู้ว่าฯคนใหม่จะดำเนินการลำดับแรกคือ หารายได้เลี้ยงตัวเอง ด้วยการนำทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดินร.ฟ.ท.มาทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้เร็วที่สุด รวมถึงตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของที่ดินให้ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าด้วย

 
 
 
 
 
 

โดยเฉพาะการพัฒนาที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ 497 ไร่ย่านมักกะสัน หรือโครงการ "มักกะสัน คอมเพล็กซ์" มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท ที่ผ่านไป 8 ปีแล้วยังเป็นเพียงแค่แนวคิดที่ยังไม่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

 

ถือเป็นสิ่งที่น่าทำมากที่สุด เพราะที่ดินบนชุมทางรถไฟ ทั่วประเทศ ไม่นับรวมพื้นที่โดยรอบมีมากกว่า 235,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินที่นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้กว่า 36,000 ไร่
















แต่ร.ฟ.ท.กลับไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ ปล่อยให้เป็นที่รกร้าง ถูกประชาชนบุกรุกเข้าไปจับจองเป็นที่อยู่อาศัย มิหนำซ้ำ ยังปล่อยให้คนอื่นเช่าในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วนำไปสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โกยเงินเข้ากระเป๋าเพลินๆ ไม่รู้กี่ปีมาแล้ว

 

คงต้องเอาใจช่วยผู้ว่าฯคนใหม่ ให้ทำงานสำเร็จลุล่วง ในฐานะที่ “ฟันนี่เอส” เป็นคนไทย และเคยใช้บริการรถไฟไทย ไม่อยากเห็น ร.ฟ.ท. ยังคงรักษาสภาพเดิมเอาไว้เหมือนเมื่อแรกเริ่มก่อตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน การให้บริการ หรือกระทั่งสภาพรถไฟ

 

 

  ฟันนี่เอส

 

 

22.ค. 55

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หอการค้าไทย:ที่สุดแห่งสยาม


 
 
 
 
 
 

ทุกๆ ปี หอการค้าไทย องค์กรภาคเอกชนชั้นนำของไทย ที่มีสมาชิกทุกจังหวัดทั่วประเทศ จัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ เพื่อระดมความคิดเห็นจากสมาชิก จัดทำสมุดปกขาวเสนอต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางบริหารประเทศ











          สำหรับปีนี้ เป็นโอกาสที่หอการค้าไทยครบ 80 ปี จึงกำหนดจัดงานอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง ระหว่างวันที่ 16-23 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

โดยแนวคิดที่จะระดมสมองจัดทำสมุดปกขาว ได้แก่ การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการรองรับการเปลี่ยนแปลง และการส่งเสริมองค์ความรู้และคุณธรรม ที่สมาชิกจะต้องร่วมกันหาแนวทางดำเนินการ และข้อเสนอแนะเสนอต่อรัฐบาล

ส่วนหัวใจหลักของงานคือ หอการค้าไทย ต้องการประกาศให้คนไทย และทั่วโลกได้รู้ถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีให้กับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่ในขณะนี้


          เพราะปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ยอมรับกันแล้วว่า การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเร่งให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวอย่างมากในแต่ละปีนั้น ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆ เติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนเลย


          แต่กลับมีส่วนทำให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆ ซวนเซ เหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งในไทย วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ จนมาถึงวิกฤติหนี้สาธารณะในยูโรโซน







 

         หอการค้าไทย เชื่อว่า การยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นต้นแบบในการทำธุรกิจ จะสามารถสร้างความสมดุลและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศได้

จึงได้ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย และทั่วโลกนำไปใช้ในการทำธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมา หอการค้าไทย ได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งนักวิชาการ และนักธุรกิจ ไทยและต่างชาติ สนใจและเห็นด้วยแล้ว

เพื่อตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในงานสัมมนาครั้งนี้ หอการค้าไทย ได้เชิญนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) มาปาฐกถาพิเศษ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทางออกของสังคมโลกเพื่อชี้ให้โลกรับรู้ว่า อังค์ถัดเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

และยังเชิญนาย Lyon Choen Jigmi Y Thinley นายกรัฐมนตรีภูฎาน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ภูฎาน:การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นความสุขมวลรวมประชาชาติ” ที่สอดคล้องกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเช่นกัน

ที่พิเศษสำหรับงานปีนี้คือ การจัดงานแสดงสินค้าหอการค้าไทย (TCC Expo 2012) ที่รวมความเป็นที่สุดจากสมาชิกหอการค้าไทยกว่า 800 ราย มาจัดแสดง ภายใต้แนวคิด ที่สุดแห่งสยาม คาดจะมีผู้เข้าร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คน


           แต่สิ่งที่เป็นที่สุดของงานคือ นิทรรศการ "ยอดกษัตริย์" ภายในศาลาไทย ที่จำลองวังสวนจิตรลดา มาเป็นพื้นที่จัดแสดงพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชื่นชม

งานนี้ ต้องรอดูว่า หอการค้าไทยจะชี้นำเศรษฐกิจ ให้นักธุรกิจไทยและทั่วโลก หันมาใช้เศรษฐกิจพอเพียงได้หรือไม่ ถ้าสำเร็จ! เศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกแน่นอน

 

 

 

ฟันนี่เอส

 

 

                                                      15 พ.ย.55

ดูภูมิรัฐบาลแก้ภัยแล้ง


 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

            สำหรับคนไทย โชคดีที่ปีนี้ ฝันร้าย “น้ำท่วมใหญ่” เหมือนปีก่อนไม่เกิดขึ้น จะมีมาแบบให้ตื่นเต้นกันพอเป็นกระษัยเท่านั้น แล้วหน้าฝน หรือหน้าน้ำก็ผ่านไปพร้อมกับทิ้งปริมาณน้ำฝนอันน้อยนิดกว่าปีก่อนมากไว้เบื้องหลัง

 

            ตอนนี้ จึงเกิดภาวะน้ำแล้งแทบจะทุกหัวระแหง ทรมานใจเกษตรกรไทยอย่างที่สุด!! เพราะในหลายพื้นที่ถูกสั่งห้ามเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวกันแล้ว จนชาวนาต้องนั่งกุมขมับ ไม่รู้จะเอาอะไรกินกันเลย

 

ล่าสุด วันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-5พ.ย.55 เกิดภาวะภัยแล้งแล้วใน 9 จังหวัด 64 อำเภอ 435 ตำบล 4,467 หมู่บ้าน ในพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ จ. กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ มหาสารคาม

 

แต่ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หรือฝนทิ้งช่วง แล้วใน 7 จังหวัด 52 อำเภอ 338 ตำบล 3,349 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู และ มุกดาหาร

 

ส่วนกรมชลประทาน ระบุว่า ณ วันที่ 4 พ.ย.55 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำรวม 51,928 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 74% ของความจุทั้งหมด โดยอ่างเก็บน้ำภูมิพล และอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 8,618 และ 6,559 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 64% และ 69% ของความจุอ่างตามลำดับ

 
 
 
 
 
 
 

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 80% มีทั้งสิ้น 9 อ่างคือ อ่างคอหมา ลำพระเพลิง ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ์ คลองสียัด หนองปลาไหล และประแสร์ ส่วนที่มีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ หรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง มี 1 อ่าง คือ เขื่อนลำปาว

 

ส่งผลให้เขื่อนในภาคอีสาน และภาคกลาง มีน้ำน้อยสุดในรอบ 5 ปี!!

 

กรมชลประทาน ต้องงดเพาะปลูกในพื้นที่ท้ายเขื่อน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 700,000 ไร่ คาดผลผลิตข้าวนาปีปี 55/56 จะลดลงกว่า 5 ล้านตันข้าวเปลือก

 
 
 
 
 
 
 

นี่เพิ่งเริ่มต้นภาวะภัยแล้ง เพราะหน้าฝนเพิ่งผ่านไป กว่าจะถึงหน้าฝนปีหน้า ยังไม่รู้ว่า น้ำจะเหือดแห้งหายไปอีกเท่าไร ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลงมากแค่ไหน รายได้ของเกษตรกร รวมถึงมูลค่าจากการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์จะลดลง จนกระทบระบบเศรษฐกิจไทยอย่างไร

 

ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งได้คือ การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย หรือแม้แต่ทำนบกั้นน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ แต่จนถึงขณะนี้ แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทั้งระบบ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ขณะที่เอ็นจีโอ ก็คัดค้านหัวชนฝาไม่สร้างเขื่อน

 

คนไทยถนัดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อยากรู้ว่า ตอนนี้ รัฐบาลเตรียมการแก้ไขอย่างไร การห้ามเกษตรกรเพาะปลูกเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และตรงจุดแล้วหรือไม่ เมื่อไม่มีผลผลิตไปขาย จะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ถึงตรงนั้น รัฐบาลจะมีหนทางช่วยเหลืออย่างไร และถ้าภัยแล้งรุนแรงมากขึ้นอีก จะแก้ปัญหาอย่างไร

 

ประเทศไทย ประเทศเกษตรกรรม แต่กลับไม่มีปัญญาบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุล ไม่รู้จะเป็นแบบนี้อีกนานแค่ไหนกัน ให้ตายเถอะ!

 

 

 

ฟันนี่เอส

 

8 พ.ย.55