เมื่อต้นสัปดาห์ เห็นข่าวกระทรวงพาณิชย์ จะโปรโมตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย (Geographical Indications : GI) โดยจะขอความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) ให้โปรโมตสินค้าจีไอ พ่วงกับการโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆ ด้วย
เพื่อให้คนไทย และต่างชาติ ได้รู้จัก ได้กิน และได้ใช้สินค้าเหล่านั้น ถึงขั้นเมื่อไปจังหวัดนั้นๆ หรือท้องถิ่นนั้นๆ แล้วต้องซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึก ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไปไม่ถึงกันเลยทีเดียว
เหมือนการไปแคว้น Champagne ในฝรั่งเศส ก็ต้องดื่มไวน์ฟอง หรือที่เรียกว่า แชมเปญ หรือเมื่อไปถึงเมือง Bordeaux ก็ต้องดื่มไวน์บอร์โดซ์
ถือเป็นการขยายตลาด และเพิ่มยอดการค้าให้สินค้าจีไอ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น และทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แต่เชื่อเหลือเกินว่า คนส่วนใหญ่ ยังไม่รู้จัก “สินค้าจีไอ” คืออะไร?
สินค้าจีไอ คือสินค้าที่แต่ละท้องถิ่นผลิตได้ และเรียกชื่อสินค้านั้นๆ ตามชื่อของท้องถิ่นที่ผลิตได้ และไม่ใช่สินค้าโอทอปที่ผลิตกันได้ทั่วไป ไม่ว่าจะท้องถิ่นไหนก็ผลิตสินค้าเหมือนกันไปหมด
อย่าง สับปะรด เมื่อเอาสับปะรดภูเก็ตไปปลูกที่ภูเก็ต จะเรียกว่า สับปะรดภูเก็ต แต่เมื่อเอาพันธุ์เดียวกันไปปลูกที่ต.นางแล จ.เชียงราย จะเรียกชื่อใหม่ว่า สับปะรดภูแลเชียงราย หรือส้มโอขาวแตงกวา ชัยนาท หมูย่างเมืองตรัง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังจะผลักดันให้ผู้ผลิต ยื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้มากขึ้น เพื่อได้รับความคุ้มครอง กรณีที่มีคนนอกท้องถิ่น แอบอ้างใช้ชื่อสินค้าจีไอกับสินค้านอกท้องถิ่น ซึ่งจะถือเป็นการละเมิด และมีความผิดตามกฎหมาย
แต่น่าเสียดาย จนถึงขณะนี้ มีการยื่นขอคำจดเพียง 85 คำขอ และรับขึ้นทะเบียนแล้ว 72 คำขอเท่านั้น ยังมีอีก 39 จังหวัด รวมกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ยื่นขอจด ทั้งที่ในจังหวัดเหล่านี้มีสินค้าจีไอจำนวนมาก
“ฟันนี่เอส” มองว่า สาเหตุสำคัญที่ไม่มีการจดทะเบียน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า สินค้าจีไอคืออะไร ที่สำคัญผู้ผลิตไม่รู้หรอกว่า สินค้าที่ผลิตได้ถือเป็นสินค้าจีไอหรือไม่ หรือเป็นสินค้าโอทอป แล้วจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนด้วยหรือ เพื่ออะไร มีขั้นตอนยุ่งยากขนาดไหน
แนวคิดดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้ต่างชาติได้รู้จักความหลากหลายในสินค้าไทยมากขึ้น แล้วยิ่งหากสินค้าจีไอของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ อย่างความพยายามที่ไทยกำลังยื่นขอจดทะเบียน “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ในสหภาพยุโรป ก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทยได้มากขึ้น
แต่ก่อนไปถึงขั้นตอนการโปรโมต และผลักดันให้ยื่นขอจดทะเบียนมากขึ้นนั้น อยากให้กระทรวงพาณิชย์ ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้รู้จักสินค้าจีไอ และประโยชน์ของการจดทะเบียนก่อนจะดีกว่า
เพราะเชื่อจริงๆ ว่า คนทั่วไปยังใบ้กินกับ “สินค้าจีไอ” ซึ่งจะทำให้การเดินตามแผนของกระทรวงพาณิชย์ไม่บรรลุเป้าหมาย และอาจล้มเหลวไม่เป็นท่าด้วยซ้ำ
ฟันนี่เอส
26 ม.ค.55
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น