วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาไทยไม่พร้อมรับเออีซี













            มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ดร.เปรมประชา ศุภสมุทร นายกสภาสถาบันการอาชีวะศึกษาภาคตะวันออก และกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ระบบการศึกษาไทยพร้อมหรือยังรับมือเออีซี”

          ทำให้เห็นภาพชัดว่า การศึกษาของไทยไม่พร้อมรับมือเออีซีแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านหลักสูตร คุณภาพบุคลากร หรือทักษะด้านภาษา

            ดร.เปรมประชา ฉายภาพให้เห็นว่า หลักสูตรของไทย ไม่ได้ทำให้เด็กไทยเก่งเท่าที่ควร เพราะความไม่ต่อเนื่องของหลักสูตร ที่ผู้กำหนดนโยบาย หรือรมว.ศึกษาธิการ มักเปลี่ยนตัวบ่อย  การวางนโยบายจึงไม่สอดคล้องต่อเนื่องกัน

          บางหลักสูตร ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน หรือต้องการในปริมาณน้อย แต่กลับมีคนเรียนมาก เช่น ประเทศต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม แพทย์ พยาบาล ช่าง แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เน้นผลิตบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ฯลฯ แต่ละปีมีเด็กจบจำนวนมาก แต่งานน้อยกว่า

ส่งผลให้เกิดการว่างงาน หรือทำงานไม่ตรงกับที่เรียนมา เป็นการใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า เพราะทรัพยากรที่รัฐจัดหามาให้เด็กเหล่านี้ได้เรียน หรือเงินที่รัฐอุดหนุนให้มหาวิทยาลัยสูญเปล่า และยังเกิดการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ

และยิ่งถ้าเด็กที่เรียนจบมากู้ยืมเงินมาเรียน เช่น จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือจาก กรอ. แล้วไม่มีงานทำ จะเกิดภาวะหนี้สินอีก















            ส่วนการเรียนภาษาอังกฤษของไทย ไม่ได้เน้นให้พูด ฟัง อ่าน และเขียน แต่เน้นให้เขียน อ่าน ฟัง และพูด เด็กไทยจึงไม่กล้าสื่อสารกับฝรั่ง และเมื่อไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นเออีซีในปี 58 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า สถาบันการศึกษาต่างๆ เพิ่งจะให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาอังกฤษ จึงไม่ทันที่จะสร้างคนรองรับเออีซี








            ขณะที่โรงเรียนอาชีวะศึกษา ที่ผลิตแรงงานได้ตรงความต้องการของตลาด ก็ไม่ดึงดูดให้เด็กเข้าไปเรียน เพราะภาพลักษณ์นักเรียนตีกัน และค่านิยมที่ว่า เด็กอาชีวะมีศักดิ์ศรี เงินเดือน ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้อยกว่าเด็กมหาวิทยาลัย

ดร.เปรมประชา เสนอทางออกว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องกำหนดหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการตลาด โดยร่วมกับบริษัทใหญ่ๆ วางหลักสูตรผลิตบุคลากรที่ขาดแคลน เมื่อเด็กเรียนจบก็มีงานทำ และบริษัทเหล่านั้นก็ไม่ขาดแคลนแรงงาน

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์โรงเรียนอาชีวะ เพื่อดึงดูดให้เด็กๆ เข้าไปเรียนมากขึ้น ที่สำคัญต้องให้รู้ว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานทำ และยังจะได้รับเงินเดือน และความก้าวหน้าทัดเทียมกับคนจบปริญญาตรี และถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลน่าจะลงทุนทำโรงเรียนอาชีวะหลักสูตรอินเตอร์ เพื่อให้เด็กได้ทั้งทักษะฝีมือ และภาษาอังกฤษด้วย

ถ้าทำได้เช่นนี้ อย่าว่าแต่เออีซีเลย ทั้งโลกคนไทยก็สู้ได้แน่นอน!


ฟันนี่เอส


                                                                        8 ส.ค.56