ตอนนี้ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
กำลังเร่งทำแผนความร่วมมือด้านข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิต
การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไปจนถึงขั้นทำการตลาดร่วมกัน กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
ทั้งลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
เพื่อสร้างเสถียรภาพการผลิต
การค้า และราคาข้าวของอาเซียนในตลาดโลก ถือเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรอาเซียน
และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบการค้าข้าวของอาเซียน ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืนในอนาคต
โดยสิ่งที่กรมฯกำลังดำเนินการคือ
ลงพื้นที่สำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งเขตการค้าข้าวพิเศษ (Rice
Trade Zone) ตามแนวชายแดนไทยกับกัมพูชาเป็นอันดับแรก
โดยได้สำรวจในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด
และพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของกัมพูชา
รวมถึงศึกษาเส้นทางการขนส่งระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว
จะเสนอให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์พิจารณา จากนั้นจะขยายไปจัดตั้งเขตดังกล่าวตามแนวชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านอื่นต่อไป
สำหรับรูปแบบของการดำเนินการจัดตั้งเขตการค้าข้าวพิเศษนั้น
จะกำหนดให้พื้นที่บริเวณชายแดนบางจุดสามารถเปิดรับข้าวเปลือกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอบความชื้น
สีแปรสภาพเป็นข้าวสาร และทำตลาดส่งออกได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ อาจทำให้คนในวงการข้าวของไทยบางส่วนไม่เห็นด้วย
และอาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมจึงต้องเอาข้าวของประเทศเพื่อนบ้านมาส่งออกให้ด้วย
และรัฐจะมีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้ข้าวของเพื่อนบ้านหลุดรอดออกมาจากพื้นที่พิเศษ
และมาขายในตลาดในประเทศ
ตรงจุดนี้
กรมฯได้หาทางออกแล้ว โดยจะกำหนดเป็นข้อห้ามการเคลื่อนย้ายข้าวออกจากพื้นที่พิเศษโดยเด็ดขาด!! เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำข้าวดังกล่าว มาเวียนเทียนขายในประเทศ จนทำให้ตลาดข้าวของไทยเสียหาย
นอกจากนี้
ยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะนำเข้าข้าวของเพื่อนบ้านด้วย ไม่ใช่เป็นใครก็ได้
แต่จะต้องเป็นผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมฯแล้ว เช่น โรงสี ผู้ส่งออก ต้องส่งแผนการนำเข้าให้กรมฯพิจารณา
และอาจกำหนดให้เข้มงวดไปถึง
รถบรรทุกที่นำเข้าอาจต้องติดตั้งอุปกรณ์จีพีเอสให้สามารถตรวจสอบได้อย่างแม่นยำด้วยว่า
ขนส่งข้าวไปยังพื้นที่พิเศษจริงหรือไม่ หรือออกนอกเส้นทาง
ส่วนเหตุที่ต้องทำตลาดให้ข้าวของประเทศเพื่อนบ้านก็เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวของเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ข้าวของเกษตรกรไทยเข้าโครงการรับจำนำของรัฐบาล
เพราะการรับซื้อโดยตรง ในราคาตลาด จะทำให้ข้าวของเพื่อนบ้านมีช่องทางขายได้มากขึ้น
และขายได้ในราคาดีขึ้น
ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาของประเทศเพื่อนบ้านได้อีกทางหนึ่ง
และที่สำคัญ
จะทำให้ปัญหาขายข้าวตัดราคาข้าวไทยในตลาดโลกหมดไป ทำให้ราคาข้าวไทย และข้าวอาเซียนขายได้ในราคาสูงขึ้น
และมีเสถียรภาพ
โครงการสวยหรูแบบนี้
ถ้าทำได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและเพื่อนบ้านมาก ติดอยู่แค่ว่า
จะทำได้จริงหรือเปล่า ก็แค่นั้น
ฟันนี่เอส
20 ก.ย.55