วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ส่งออกไทยยังแข็งแกร่ง



                                                           
           
            ตอนนี้หลายฝ่ายกลัวเหลือเกินว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงอย่างแรง เพราะมีปัจจัยเสี่ยงสารพัดรุมเร้าอย่างหนัก ทั้งจากปัจจัยภายใน ที่รัฐบาลใหม่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำงานอย่างจริงจังเสียที








    แล้วยังจะมีปัญหาการเมือง ที่ทั้งพี่ชายนายกรัฐมนตรี และคนเสื้อสารพัดสีพร้อมใจกันออกมาขย่มซ้ำเสถียรภาพของรัฐบาลอีก ไหนยังจะมีปัญหาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากวิกฤตหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นมาก และยังไม่สามารถแก้ไขได้ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง

   ทำให้ล่าสุดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ไม่สามารถทัดทานปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นได้ ขยายตัวได้เพียง 2.6% ลดลงมากจากไตรมาสแรก ร้อนถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องรีบปรับลดประมาณการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 3.5-4.0% จากเดิมที่คาดโต 3.5-4.5%






          ขณะเดียวกัน หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สศช กระทรวงการคลัง ฯลฯ ต่างจับตามองปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ของ 2 ยักษ์ใหญ่โลกอย่างใกล้ชิดแบบไม่กระพริบตา เพื่อจะได้วางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที หากเกิดความรุนแรงมากขึ้นไปอีก!!

          แต่ท่ามกลางข่าวร้ายย่อมมีข่าวดี กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ปัญหาของสหรัฐฯ และอียู ไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปตลาด 2 แห่งนี้มากนัก  


          โดยสหรัฐฯ แม้กำลังซื้อลดลง แต่รัฐบาลน่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 3  (คิวอี 3) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไม่ได้รับผลกระทบ  

   แต่หากจะมีส่วนถูกกระทบบ้าง ก็ไม่น่าจะมากนัก เพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพียง 9.5% ของการส่งออกรวม สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการนำเข้าที่ลดลง เพราะคนอเมริกันต้องรัดเข็มขัด ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น








   ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจในอียู ล่าสุดธนาคารกลางได้ตกลงพยุงเศรษฐกิจ ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรของสมาชิกที่มีปัญหา เพื่อปกป้องชาติที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน (ยูโรโซน) เช่น อิตาลี ทำให้ระยะสั้นปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปจะไม่ลุกลามออกไปอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

   พร้อมกันนั้น กรมส่งเสริมการส่งออกจะผลักดันการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ เป็นการทดแทนมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ และอียูที่ลดลง โดยจะเน้นไปที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี ทั้งอาเซียน จีน อินเดีย ละตินอเมริกา รัสเซียและซีไอเอส แอฟริกา เป็นต้น







  ประกอบกับ สินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เพราะมีคุณภาพดี มี รวมทั้งยังมีโอกาสส่งออกไปยังประเทศที่ไทยได้ทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

 มั่นใจว่า ปีนี้มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 15% มูลค่า 224,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 7 ล้านล้านบาท และยังมีโอกาสไปได้ถึง 20% ด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อการส่งออกยังเติบโตได้ดีอยู่ เศรษฐกิจไทยก็น่าจะทรุดลงมากนัก

 เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อแถลงนโยบายแล้ว ขอให้รัฐบาลเร่งทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับขึ้นมาคึกคักอีกครั้ง แต่กลัวเหลือเกินว่า รัฐบาลจะแพ้ภัยตัวเอง และคนรอบข้างก่อนจริงๆ


ฟันนี่เอส


25 ส.ค.54











วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อย่าตื่นตูม!




 

         
        หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ คงจะทำให้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้เป็นรูปธรรมเสียที โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนที่พรรคเพื่อไทย ใช้เป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งการยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท การรับจำนำข้าว การแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน ฯลฯ

       นโยบายเหล่านี้ ส่วนใหญ่ได้รับการตอบรับในทางที่ดี ยกเว้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ที่เหล่านายจ้างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้ข่าวไม่ซ้ำหน้า และไม่เว้นแต่ละวันว่า จะทำให้ต้นทุนนายจ้างพุ่งสูงปรี๊ด จนอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะยิ่งฉุดให้ศักยภาพการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งลดฮวบลง

       หนำซ้ำไทยจะสูญเสียความได้เปรียบที่จะดึงดูดการลงทุน จากค่าจ้างแรงงานต่ำไปทันที และจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ไม่เข้ามาลงทุน ขณะที่นักลงทุนหน้าเก่าก็พร้อมถอนสมอออกไปเช่นกัน
    



      ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศว่า การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ อาจทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita)  ของไทยเพิ่มขึ้น และอาจถูกสหภาพยุโรป (อียู) ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับสินค้าไทย ในการส่งออกไปอียูโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าได้

       ซึ่งหากไทยถูกตัดสิทธิจริง จะทำให้สินค้าไทยที่เคยได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าอียู ต้องกลับมาเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ บางรายการอาจสูงเป็นสิบเปอร์เซ็นต์ และจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอียู เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ยังได้รับสิทธิอยู่ ลดลงทันที และยังมีโอกาสเสียส่วนแบ่งให้กับสินค้าจากคู่แข่ง จน กระทบต่อรายได้ที่จะเข้าสู่ประเทศ และอาจรุนแรงจนทำให้ผู้ผลิต ปรับลดคนงานลง และมีคนตกงานอีกมาก

        แต่เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่? รายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยเพิ่มขึ้นสูงมากจนมีโอกาสที่อียูจะตัดสิทธิจีเอสพีหรือไม่?
  





        เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ ที่อียูใช้พิจารณาตัดสิทธิเป็นรายประเทศ กำหนดว่า ประเทศผู้รับสิทธิอาจถูกตัดสิทธิได้หากมีรายได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงตามการจัดอันดับของธนาคารโลก ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.ค.54 ธนาคารโลกได้จัดไทยอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง หรือประชากรมีรายได้เฉลี่ย 3,976-12,275 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่มีรายได้สูงจะมีรายได้อยู่ที่ 12,276 เหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า
  
       ที่จริงน่าจะดีใจ ที่คนไทยมีรายได้สูงขึ้น แต่เมื่อเจาะลึกเข้าไป จะพบว่า ในกลุ่มที่ไทยถูกจัดอันดับใหม่นี้ คนไทยมีรายได้เกือบจะต่ำสุด โดยมีรายได้ 4,210 เหรียญสหรัฐฯ สูงขึ้นจากระดับฐานที่ 3,976 เหรียญฯ เพียง 234  เหรียญฯเท่านั้น
  
       ยังมีช่องว่างอีกมากที่รายได้คนไทยจะถีบตัวขึ้นไปอยู่ในอัตราสูงสุดของกลุ่มที่ 12,275 เหรียญฯ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่การเพิ่มค่าแรงครั้งนี้ จะทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยเพิ่มขึ้นมากจนถูกตัดสิทธิ อย่างที่กระทรวงพาณิชย์เป็นกังวล
  
       แต่ขอให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มศักยภาพการผลิต และผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งในการแข่งขัน เพราะไทยคงไม่ได้รับสิทธิไปจนตลอดชีวิต
  
       ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงให้ดี แม้จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน แต่ก็อาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมได้


                       
                                          ฟันนี่เอส
                                                                                                                                              16 ส.ค. 54

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โลกของความจลาจล





            โลกเราทุกวันนี้แทบหาความสงบสุขไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่ความวุ่นวาย ทั้งจากปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ ไปจนถึงจลาจล ที่เกิดขึ้นแทบทุกมุมโลก





            ที่ฮอตที่สุดตอนนี้หนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่หนักหนาสาหัสจนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ถึงขั้นลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเหลือ AA+ จากเดิม AAA

เพราะแผนการลดขาดดุลงบประมาณ ไม่เพียงพอจะทำให้หนี้สาธารณะมีเสถียรภาพ และยังขู่ซ้ำว่า หากใน 2 ปีไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนด ก็อาจถูกลดเครดิตลงอีกครั้ง สร้างความหวั่นวิตกเทขายหุ้นทั่วโลก รวมถึงทองคำ จนทำให้หุ้นทั่วโลกแดงทั้งกระดาน และค่าเงินทั่วโลกอ่อนค่าลงมาก ไม่เว้นกระทั่งค่าเงินบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกระส่ำ เพราะล้วนพึ่งพาเศรษฐกิจพี่เบิ้มทั้งนั้น





การลดเครดิตของสหรัฐฯครั้งแรกในประวัติศาสตร์ กลายเป็นเรื่องที่น่าอับอายของรัฐบาล และนาย บารัก โอบามา ประธานาธิบดี !!





แต่นายโอบามา ไม่ยอมรับว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ผิดพลาด แต่กลับระบุว่า หนี้สินและการขาดดุลงบประมาณที่หนักหน่วง เป็นปัญหามาจากรัฐบาลที่แล้ว ประกอบกับ วิกฤตการคลังในยุโรปยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาของสหรัฐฯรุนแรงขึ้นไปอีก

ขณะที่หนี้สาธารณะยุโรปยังไม่สามารถแก้ไขได้ จนล่าสุดธนาคารกลางยุโรป ได้กระโดดเข้าซื้อพันธบัตรอิตาลี และสเปน เพื่อช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อ 2 ประเทศ แต่นักวิเคราะห์ระบุว่า จะมีผลดีในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนระยะยาวต้องมีมาตรการที่ดีกว่านี้ออกมาแก้ไข

ขณะเดียวกัน ในอังกฤษก็เกิดจลาจลทั่วกรุงลอนดอน แล้วลามไปเมืองใกล้เคียง ทั้งลิเวอร์พูล, เบอร์มิงแฮม และบริสตัล มีการปล้นร้านค้า เผาเมือง ตำรวจต้องเอารถหุ้มเกราะออกปราบ จนมีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต เหมือนเป็นเหตุการณ์ที่จำลองแบบมาจากในแอฟริกา และตะวันออกกลาง





แน่นอนว่า นอกจากจะทำลายขวัญของชาวอังกฤษแล้ว ยังกระชากขวัญ และทำลายความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติในอังกฤษด้วย เพราะเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1980 ที่มีการเผาบ้านเผาเมือง จากชนวนขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ทั้งที่อังกฤษกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2012

นอกจากนี้ ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม จนสร้างความเสียหายต่อสินค้าเกษตร ก่อให้เกิดความขาดแคลนอาหาร และราคาอาหารสูงขึ้นไปทุกหย่อมหญ้า

จากปัญหาของสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้สหรัฐฯต้องตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐลง ส่วนภาคเอกชน และประชาชนต้องรัดเข็มขัดเช่นเดียวกับในยุโรป และยังมีปัญหาว่างงานตามมาอีก ซึ่งจะทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าลดลง และกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

เฮ้อ! กว่าจะสิ้นปี ไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก แต่อยากให้คนไทยรวมพลังตั้งรับเรื่องเลวร้ายที่จะเข้ามาอย่างมีสติ อย่าตื่นตระหนก แล้วทุกเรื่องจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี


                             ฟันนี่เอส

                                       11 ส.ค.54

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เรื่องหมูที่ไม่หมู

 
 
 
 
 
 
            ยอมรับว่าตกใจกับข่าวกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไฟเขียวปรับขึ้นราคาแนะนำขายหมูเป็น และเนื้อหมูชำแหละแบบมหาโหด ไม่เกรงใจเงินในกระเป๋าอันน้อยนิดของประชาชนเอาเสียเลย
 
     โดยหมูเป็นภาคกลางเพิ่มเป็นกก.ละ 79 บาท จากเดิม 70 บาท ภาคอีสานและเหนือกก.ละ 83 บาท และภาคใต้กก.ละ 85 บาท ขณะที่หมูเนื้อแดงในกรุงเทพฯ และภาคกลาง เพิ่มเป็นกก.ละ 140-150 บาท จาก 130 บาท ภาคอีสานและภาคเหนือ กก.ละ 155 บาท จาก 135 บาท และภาคใต้กก.ละ 160 บาท จาก 140 บาท
 
   แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงของกรมการค้าภายในก็เข้าใจว่า ทำไมหน่วยงาน ที่ควบคุมดูแลราคาสินค้า ค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อ จึงยอมเช่นนั้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้นไปถึงกก.ละ 72 บาท จากราคาอาหารสัตว์ และต้นทุนด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น
 
 
 
 
  หนำซ้ำผู้เลี้ยงยังมีต้นทุนสูงขึ้นจากปัญหาหมูตาย จากโรคระบาดพีอาร์อาร์เอส และบีอีบี ซึ่งเป็นไวรัสร้ายแรงจากจีน และเกาหลีใต้ ระบาดมากในช่วงหน้าฝน จนปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดลดลงถึง 30% หรือมีหมูเข้าสู่ตลาดไม่ถึง 33,000 ตัว จากช่วงปกติ 38,000 ตัว  
 
 
 
 
  ที่สำคัญ หากยังคุมราคาขายอยู่เท่าเดิม จะเป็นการบิดเบือนกลไกราคา และอาจนำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนเหมือนน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในช่วงที่ผ่านมา เพราะการควบคุมราคาขายต่ำ แต่ต้นทุนสูงขึ้น ผู้เลี้ยงรายย่อยจะขาดทุนและล้มตายจนเลิกเลี้ยงหมูขาย และเหลือรายใหญ่ไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่คุมตลาด
 
 ซึ่งการมีผู้เลี้ยงน้อยราย นอกจากจะทำให้ผลผลิตลดลง และราคาแพงขึ้นตามกลไกตลาดแล้ว รายใหญ่ที่เหลือก็อาจผูกขาดตลาด และร่วมกันกำหนดราคาขาย (ฮั้ว)  ไม่ว่าจะผลิตหมูคุณภาพอย่างไร และราคาสูงขนาดไหน ประชาชนก็ต้องยอม เพราะไม่มีทางเลือกที่หลากหลาย
 
 ดังนั้น การยอมให้ขึ้นราคาครั้งนี้ ถือเป็นการต่อลมหายใจผู้เลี้ยงรายย่อยไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่เมื่อโรคระบาดคลี่คลาย และต้นทุนการเลี้ยงลดลงแล้ว ต้องยอมลดราคาขายให้ผู้บริโภคด้วย ไม่ใช่ยังเอาเปรียบกันไม่เลิก
 
 แต่ “ฟันนี่เอส” มองว่า กรมการค้าภายใน ต้องจัดการให้หนักกับฟาร์มเลี้ยงหมูรายใหญ่ ที่ลักลอบส่งออกด้วย เพราะในยามที่ปริมาณในประเทศลดลง ก็ต้องชะลอส่งออกเพื่อให้ปริมาณในประเทศมีเพียงพอ ไม่ใช่ซ้ำเติมผู้บริโภคด้วยการขนออกไปขายเพื่อนบ้าน โดยหวังราคาที่สูงกว่ากก.ละ 5 บาทแบบนี้
 
 นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบภาวะการค้าตามตลาดสด ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีก ไม่ให้ผู้ค้าฉวยโอกาสขายเกินราคาแนะนำด้วย ไม่ใช่ออกตรวจสอบพอเป็นพิธี เห็นใครขายแพงก็ได้แต่ตักเตือนแค่นั้น  
 
 เฮ้อ! เกิดเป็นคนไทยยุคนี้ช่างเหนื่อยยากแสนสาหัส และน่าสงสารที่สุด เพราะถูกสารพัดปัญหาถาโถมเข้าใส่ไม่เว้นแต่ละวัน ตั้งแต่ปัญหาการเมืองไปจนถึงปัญหาปากท้อง แล้วใครจะช่วยได้เนี่ย...
 
 
ฟันนี่เอส
 
  4สค54